สถาบันยานยนต์ จับมือ รี้ด เทรดเด็กซ์ จัดสัมมนาใหญ่ “ออโตโมทีฟ ซัมมิท 2018” ชูระบบออโตเมชั่นและ โรโบติกส์ หนุนผู้ประกอบการไทยสู่ยุคทอง 4.0

อัปเดตล่าสุด 11 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 484 Reads   

ปัจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนโลก ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงตามเมกะเทรนด์ และการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนต้องมีการปรับตัว รวมถึงต่อยอดการผลิตเพื่อก้าวไปสู่การผลิตยานยนต์สมัยใหม่

แนวโน้มการผลิตในประเทศไทยระยะ 2-3 ปีนี้ คาดว่าตลาดการผลิตในประเทศจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการสิ้นสุดของเงื่อนไขการถือครองรถยนต์ตามมาตรการรถยนต์คันแรก ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีการซื้อขาย เปลี่ยนถ่ายโอน  และมีสัดส่วนการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน (HEV,PHEV) เพิ่มขึ้น

เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ บางรายต้องผลิตตามแผนที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไว้ในปี 2560 – 2561 รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศตะวันออกกลางของไทยฟื้นตัวเนื่องจากราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มที่สูงขึ้น

สำหรับปี 2561 มีการคาดการณ์การผลิตรถยนต์อยู่ที่ 2.0 ล้านคัน สูงกว่าปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1.1 ล้านคัน เท่ากับ 55% ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 900,000 คัน เท่ากับ 45% ของยอดการผลิตทั้งหมด

ปัจจุบัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์เนื่องจากเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในยุค 4.0

คุณอดิศักดิ์ โรหิตะศุน กรรมการสถาบันยานยนต์ ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า “คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่มีคุณสมบัติ สะอาด ประหยัด ปลอดภัย และรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME ซึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ คือผู้ผลิตชิ้นส่วนเป็นส่วนใหญ่ปรับตัวสู่ยุค Industry 4.0 โดยการปรับเปลี่ยนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทอล การนำเอาระบบอัตโนมัติและระบบโรโบติกส์เข้ามาใช้ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติได้   

ทางด้านคุณอิสระ บุรินทรามาตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เผยว่า “แนวคิดของการจัดแสดงเทคโนโลยีและการประชุมสัมมนาในปีนี้ อยู่ภายใต้ปรัชญา “ International Car Policy”  ชี้วิสัยทัศน์ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ที่สำคัญของโลก เตรียมความพร้อมสู่อนาคตด้วยแนวคิด “เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อยานยนต์ยุคใหม่”

โดยผลจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำเข้าเทคโนโลยีภายในงาน แมนูแฟคเจอริ่ง เอ็กซ์โปในปีที่ผ่านมา พบว่า แนวโน้มการผลิตยานยนต์สมัยใหม่มีการปรับเปลี่ยนโฉม โดยยังคงเน้นเครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน (ICE) ควบคู่กับการพัฒนารถยนต์ไฮบริด (HEV) และ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ที่จะมีความต้องการมากขึ้นในอนาคต ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV) ยังเป็นรถยนต์ทางเลือกที่ยังไม่สามารถทดแทนรถยนต์ในสามกลุ่มแรกได้ในอนาคตอันใกล้นี้

ด้วยแนวโน้มดังกล่าว นำไปสู่ความท้าทายต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์  โดยองค์ประกอบที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งสำหรับยานยนต์ยุคใหม่ คือ การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรงทนทาน

นอกจากนี้ การพัฒนาชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ยุคใหม่ ส่งผลให้เกิดความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงโมเดลรถยนต์ที่เพิ่มความทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการด้านแม่พิมพ์ที่มีความซับซ้อนและแม่นยำสูงขึ้น

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การยกระดับขีดความสามารถของคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อชิงความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ากว่าร้อยละ 70 ของการนำเข้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาสายการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อลดต้นทุน สร้างความรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการผลิตยานยนต์ยุคใหม่ รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับคลัสเตอร์ชิ้นส่วนของไทยของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ Tier 2 และ Tier 3 ประมาณ 2,000 โรงงาน

ทั้งนี้ สถาบันยานยนต์ ร่วมกับ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการนำระบบ    ออโตเมชั่น และโรโบติกส์มาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงกำหนดให้มีการจัดงาน “ออโตโมทีฟ ซัมมิท 2018” ซึ่งเป็นการสัมมนาภายใต้งาน แมนูแฟคเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2018 ด้วยแนวคิด” พลิกมิติ อุตฯยานยนต์ไทยสู่ยุคทอง 4.0 ด้วยระบบออโตเมชั่นและโรโบติกส์”  โดยได้รับเกียรติจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  ดร.อุตตม สาวนายน  เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ในวันพุธที่ 20 มิถุนายน 2561 เวลา 09.30-15.30 น. ณ ห้อง แกรนด์ ฮอลล์ 202-203 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

อย่างไรก็ตามยังมีคนจำนวนหนึ่งกังวลถึงเรื่องการนำระบบ Automation เข้ามาว่าจะมีผลต่อแรงงานหรือจะมาแย่งงานคนทำหรือเปล่า สำหรับคำถามนี้ คุณอดิศักดิ์ ได้ให้คำตอบเอาไว้ว่า

“โดยภาพรวมแล้วนะครับ ผมคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบกับแรงงาน ในขณะเดียวกันแรงงานก็ยิ่งหายากมากขึ้นทุกวัน ตอนนี้ประเทศเราก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วนะครับ ระบบ Automtion ก็ไม่น่ามีผลกระทบในทางลบเช่นเดียวกัน”

และคุณอิสระก็ได้กล่าวเสริมในประเด็นนี้เป็นการปิดท้าย

“จากประสบการณ์ที่คลุกคลีทั้งกับผู้ซื้อและผู้ขายเทคโนโลยีนะครับ เราพบว่าเราไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ในทันที บุคลากรต้องมีการเรียนรู้ ฝึกฝน เพื่อให้ทำงานสอดคล้องกับเทคโนโลยีนะครับ ผู้ผลิตกลับมองว่ามันเป็นโอกาสในการก้าวหน้าของแรงงานไปอีกระดับนะครับ จากเราทำงานเอง เป็นเราเป็นผู้ควบคุมเทคโนโลยี มันเป็นการสร้าง Value ให้กับตัวเองครับ”