BCPG ชูโมเดลออสซี่ “Blockchain” ขายไฟไร้คนกลาง

อัปเดตล่าสุด 13 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 598 Reads   

โลกของพลังงานกำลังถูกเปลี่ยนภาพด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี (Disruptive) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าที่ขณะนี้พัฒนามาจนถึงระดับ ผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้าคือคนเดียวกัน พร้อมทั้งยังสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น ๆโดยนำระบบซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เข้ามาบริหาร ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่นำมาใช้ในการบริหารเพื่อซื้อขายไฟฟ้า

ต้นแบบบล็อกเชนของ BCPG

บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ในเครือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้เริ่มนำ Blockchain เข้ามาใช้ในประเทศบ้างแล้ว นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ระบุถึงต้นแบบเทคโนโลยี Blockchain มาจากโครงการ White Gum Valley ณ เมืองฟรีแมนเทิล รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ของบริษัท พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ (Power Ledger) ซึ่งถือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของบีซีพีจี ร่วมด้วยรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยเคอร์ทิน ทดลองนำเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นรูปแบบการซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบเอกชนซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง “ไม่ผ่านคนกลาง” หรือที่เรียกว่า peer to peer

นายเดวิด มาร์ติน กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ระบุว่า ได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาบริหารในโครงการที่มีผู้อาศัยอยู่จำนวนมากภายใต้หลังคาเดียวกัน และต้องการจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้นจะดำเนินการอย่างไร พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ จึงนำ Blockchain เข้ามาใช้เพื่อไม่ต้องสูญเสียไฟฟ้าในช่วงกลางวันที่ไม่มีคนอยู่บ้าน ที่สำคัญไม่ต้องมีคนกลางเข้ามา สมาชิกสามารถตรวจสอบได้ ในระดับบ้านที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ที่ต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นั้น

ส่วนหนึ่งคือ อัตราค่าไฟฟ้าในประเทศออสเตรเลียค่อนข้างสูงอยู่ที่ 28 เซนต์/หน่วย หรือที่ 7-8 บาท/หน่วย แต่เมื่อนำ Blockchain ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงประมาณร้อยละ 25 ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าถูกกว่าการรับซื้อจากระบบการไฟฟ้าปกติอีกด้วย ในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปรวม 2 เฟส โดยจะจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นมาดูแล ทั้งระบบแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าและการรับแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจจะเป็นทั้งในรูปแบบของเงิน หรือเป็นส่วนลดค่าส่วนกลาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบของดิจิทัลมันนี่ หรือที่เรียกว่า โทเคนสปาร์กซ (Token Sparkz) เสมือนเป็นคูปองในการซื้อขาย โดยที่นิติบุคคลกับลูกบ้านจะมีการกำหนดราคาซื้อขายกันเอง

ไฟฟ้าบ้านสู่ยานยนต์ EV

ทั้งนี้ นายเดวิดให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในเฟสที่ 1 นั้น เป็น รูปแบบบ้านเอื้ออาทรสำหรับผู้มีรายได้น้อยเหมือนกับไทย ประมาณ 15 ครัวเรือน โดยนิติบุคคลเป็นเจ้าของแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ กำลังผลิตติดตั้งที่ 20 กิโลวัตต์ และศักยภาพของแบตเตอรี่ที่ 40 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตได้ที่ 85 กิโลวัตต์/วัน ในขณะที่เฟส 2 รูปแบบบ้านเพื่อ gen Y ผู้อาศัย 3 ครัวเรือน ในรูปแบบนี้ผู้อยู่อาศัยจะเป็นเจ้าของอุปกรณ์ทั้งหมด มีกำลังผลิตติดตั้ง10 กิโลวัตต์ ศักยภาพแบตเตอรี่ที่10 กิโลวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 44 กิโลวัตต์/วัน ทั้ง 2 เฟสมีอัตราค่าไฟฟ้าที่ 5-6 บาท/หน่วย และคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะดำเนินการในเฟสที่ 3 ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มารองรับผู้อาศัยที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลออสเตรเลียที่ตั้งเป้าไว้ว่าปี 2030 ภาพรวมของรถยนต์ในประเทศจะมียานยนต์ไฟฟ้าที่ร้อยละ 50

สำหรับบริษัท BCPG นั้นได้เริ่มนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้แล้ว โดยเป็นความร่วมมือกับบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ในโครงการแสนสิริทาวน์ (Sansiri Town) ที่สุขุมวิท 77 (T77) ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 3 แห่ง รวมกำลังผลิต 500 กิโลวัตต์ ได้แก่ โครงการฮาบิตะมอลล์ กำลังผลิตติดตั้ง 55 กิโลวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าได้ประมาณมิถุนายน 2561 โรงเรียนนานาชาติเพรพ กำลังผลิตติดตั้ง 230 กิโลวัตต์ และ โครงการคอนโดมิเนียม และอพาร์ตเมนต์ พาร์ก คอร์ต สุขุมวิท 77 โดยบริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) กำลังผลิต 180 กิโลวัตต์ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบไม่มีคนกลาง ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้

ทุ่ม 7 พัน ล. ลงทุนโซลาร์

นอกจากนี้ นายบัณฑิตยังระบุว่า บริษัทบีซีพีจีได้เตรียมงบประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รวมพื้นที่ 1,500 ไร่ มีกำลังผลิตไฟฟ้า 100-200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงปลายปี 2561 นี้ จะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี หรือจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2564 นอกจากนี้ นายบัณฑิตยังระบุถึงก้าวสำคัญที่บีซีพีจีว่า ได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษ CDOE (Center Digital of Energy) ขึ้นมา เพื่อมาพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หรือรับบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า แทนที่จะทำธุรกิจเพียงการพัฒนาสร้างโรงไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) เรียบร้อยแล้ว