“ไมโครซอฟท์” ท้าชิง “อเมซอน” ศึกชิงเจ้าตลาด “คลาวด์” ขุมทรัพย์แห่งอนาคต !

อัปเดตล่าสุด 6 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 385 Reads   

สัปดาห์ที่แล้ว “ไมโครซอฟท์” ยักษ์ระบบปฏิบัติการ แถลงผลประกอบการไตรมาส 3 (ม.ค.-มี.ค.) ปีงบประมาณ 2018 ว่ามีผลกำไรเพิ่ม 35% ความสำเร็จหลักเกิดจากกลุ่มธุรกิจใหม่ที่กำลังเดินหน้า อย่าง “คลาวด์ คอมพิวติ้ง”หรือการให้บริการเก็บข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ต ครอบคลุมถึงการประมวลผลต่าง ๆ เพื่อลดความยุ่งยากขององค์กรต่าง ๆ ในการติดตั้ง ดูแลระบบ และลดต้นทุนในการสร้างเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ภายในบริษัท

“Azure” คือชื่อธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งของไมโครซอฟท์ ซึ่งในไตรมาสที่ผ่านมามีการเติบโตของรายได้สูงถึง 93% แซงหน้าธุรกิจการขายไลเซนส์ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์ออนไลน์ ที่มีอัตราเติบโตเพียง 42% แถลงการณ์บนเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ระบุว่า ไตรมาสที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวม 26,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% และกำไร 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

โดยธุรกิจกลุ่ม intelligent cloud เติบโต 17% รายได้รวม 7.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้ไม่ได้ระบุว่าตัวเลขกำไรของ Azure อยู่ที่เท่าไหร่ แต่ “สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอแห่งไมโครซอฟท์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ผลประกอบการได้โชว์ศักยภาพของธุรกิจไมโครซอฟท์คลาวด์ว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนและบรรดาองค์กรต่าง ๆ เป็นอย่างดี ซึ่งไมโครซอฟท์ได้เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน ปัญญาประดิษฐ์ และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ที่สร้างประโยชน์แก่ลูกค้า”

ขณะที่ “เอมี่ ฮูดส์” หัวหน้าฝ่ายการเงินของไมโครซอฟท์ ระบุว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ผ่านมาดีกว่าที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของกลุ่มธุรกิจคลาวด์ จึงถึงเวลาที่ไมโครซอฟท์จะหันมารุกธุรกิจคลาวด์เต็มตัว เพราะปัจจุบันลูกค้าก็เริ่มหันมาใช้บริการธุรกิจคลาวด์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มไฮบริดคลาวด์ ซึ่งเป็นโมเดลที่ลูกค้าสามารถใช้งานคลาวด์เซอร์วิสร่วมกับซอฟต์แวร์ที่รันโดยไมโครซอฟท์ได้ ในเครือข่ายข้อมูลของตนเองและการเติบโตของไมโครซอฟท์น่าจะสร้างความท้าทายให้กับ “อเมซอน”ไม่มากก็น้อย ในฐานะผู้ริเริ่มธุรกิจให้บริการศูนย์เก็บข้อมูลมานับทศวรรษ และผู้นำคลาวด์คอมพิวติ้งในปัจจุบัน

ผลสำรวจช่วง 3 เดือนแรกจาก Canalys ระบุว่า ส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์คอมพิวติ้ง 31.7% เป็นของอเมซอน16% เป็นของไมโครซอฟท์ และ 7.4% เป็นของกูเกิล

“แบรด รีแบ็ค” นักวิเคราะห์จากสตีเฟล นิโคลาส แอนด์ โค. มองว่า ช่องว่างระหว่างอันดับ 1 และ 2 ค่อย ๆ แคบลงทุกที แม้ 2 ปีก่อนหน้านี้จะดูห่างไกลกันมากก็ตาม จึงน่าสนใจมากว่าการเติบโตของไมโครซอฟท์ต่อไปจะเป็นอย่างไร

ไม่แน่อาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงผู้นำกลุ่มในอีกไม่นานนี้ เพราะไตรมาสที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ก็ได้ลงทุน “ดาต้าเซ็นเตอร์” อย่างเต็มพิกัด ขยายโครงสร้างพื้นฐานอาคารคลาวด์ ด้วยเงินเกือบ 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากปีก่อนหน้าที่ไมโครซอฟท์ลงทุนในด้านนี้เพียง 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

ขณะที่เดือนก่อน ทางบริษัทก็ได้แบ่งกลุ่มวิศวกรพัฒนาโปรดักต์วินโดวส์ออกเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งบทวิเคราะห์จากเดอะวอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า นี่อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ไมโครซอฟท์ตั้งใจเพื่อเตรียมเดินหน้าคลาวด์คอมพิวติ้งเต็มตัว และให้ยอดขายไลเซนส์ออฟฟิศ 365 เป็นรายได้ซัพพอร์ตแทน

“บ็อบ อีแวนส์” คอลัมนิสต์จากฟอร์บส ผู้คร่ำหวอดในแวดวงไอทีกว่า 20 ปี ได้เขียนรายงานวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้ไมโครซอฟท์มีโอกาสคว้าอันดับ 1 ในสังเวียนคลาวด์คอมพิวติ้งโลกจากอเมซอนได้

บทวิเคราะห์ระบุว่า มีหลายประเด็นที่ไมโครซอฟท์มีความถนัดกว่า และวางกลยุทธ์ได้ดีกว่าอเมซอน เช่นเรื่องของ “ซอฟต์แวร์” แม้ว่าซอฟต์แวร์ของอเมซอนจะถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อเสริมโครงสร้างพื้นฐานของตัวเอง แต่สำหรับซอฟต์แวร์ที่ดาวน์เกรดมาใช้ในระดับองค์กร ไมโครซอฟท์ยังไงก็มีประสบการณ์มากกว่า และทำได้ดีกว่า

นอกจากนี้ ในเรื่องกลยุทธ์ที่ซีอีโอนาเดลลาใช้ยกเครื่องปฏิรูปไมโครซอฟท์ 4 ปีที่ผ่านมา โดยการยกระดับ Azure จากแค่เซอร์วิสจัดเก็บข้อมูล สู่คลาวด์คอมพิวติ้ง และเตรียมนำนวัตกรรมอื่น ๆ มาเชื่อมโยงด้วย ไม่ว่าจะเป็นในแขนงปัญญาประดิษฐ์ ที่ไมโครซอฟท์มีนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และวิศวกรกว่า 5,000 คน หรือเทคโนโลยี internet of things ที่จะเข้ามาสร้าง

ระบบ intelligent cloud รวมทั้งเทคโนโลยีบล็อกเชน ตลอดจนการออกแบบระบบวิศวกรรมต่าง ๆ เหล่านี้คือสิ่งที่อีแวนส์เชื่อว่าไมโครซอฟท์สามารถพัฒนาได้เชี่ยวชาญกว่าอเมซอน

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาสแรก (ประจำปีงบประมาณของอเมซอน) ในปี 2018 ระบุว่า ทางบริษัทมียอดขายรวมเพิ่มขึ้น 43% จากปีก่อน อยู่ที่ 51,042 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยกำไรสุทธิ 1,629 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับ “อเมซอน เว็บ เซอร์วิส คลาวด์” ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ทำให้ “เจฟฟ์ เบซอส” ซีอีโออเมซอน กลายมาเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกปีนี้ มีการเติบโต 49% ทำเงิน 5,442 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยตัวกำไรสุทธิ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ