เปิดสัมปทาน 30 ปี “ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3” คาด พ.ย.-ธ.ค.นี้ ได้เอกชนลงทุน

อัปเดตล่าสุด 2 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 911 Reads   

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเปิด Market Sounding (ทดสอบความสนใจ) ให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพราะเป็นโครงการสำคัญ 1 ในโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเป็นประตูของการส่งออกของประเทศ

ปัจจุบันมีความสามารถในการขนส่งตู้สินค้า 11.1 ล้านทีอียูต่อปี มีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับใน 3 เรื่องสำคัญคือ ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น, ส่งเสริมการขนส่งแบบไร้รอยต่อ และการนำระบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในการขนถ่ายสินค้า

ด้าน ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า เบื้องต้นใช้เงินลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท แบ่งจ่าย 4 ปี สำหรับลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาจจะมีกู้เพิ่มบ้างแต่ไม่มาก โดยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่จะได้ผู้รับจ้างดำเนินการตามสัญญาประมาณ ก.พ. 2562 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าประมาณปลายปี 2567 – ต้นปี 2568 จะได้ใช้อายุสัมปทานอยู่ที่ 30 ปี

สำหรับแผนดำเนินโครงการหลังจากนี้ จะมีการเปิด Market Sounding อีก 2 ครั้งในเดือน มิ.ย. – ก.ค.นี้ โดยจะเป็นการร่วมทุนแบบ PPP NET Cost ซึ่งจะดึง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) มาใช้ด้วย จากนั้นในเดือน ส.ค. จะประกาศ TOR เชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน และประมาณ พ.ย.-ธ.ค.จะได้เอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างในปี 2562

สำหรับโครงการนี้มีพื้นที่รวม 1,600 ไร่ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 4 ท่า ยาวรวม 4,420 เมตร รองรับการขนถ่ายสินค้าได้ 7 ล้านทีอียู/ปี มีท่าเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่า รองรับรถยนต์ได้ 1 ล้านคัน/ปี

เมื่อท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เปิดให้บริการ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18.1 ล้านตู้ต่อปี ขนส่งรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคันต่อปีเป็น 3 ล้านคันต่อปี สัดส่วนสินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศ (Logistics Cost) จากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ประหยัดเงินค่าขนส่งได้ถึง 250,000 ล้านบาท

สามารถเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ภายในพื้นที่ท่าเรือ สนับสนุนพื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่าเรือที่เกิดขึ้นในพื้นที่ EEC และประเทศไทยในการเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางด้านการขนส่งสินค้าแบบถ่ายลำเรือ (Transshipment) จากเรือขนสินค้าขนาดเล็ก (Feeder) ไปยังเรือแม่ขนาดใหญ่ หรือการเปลี่ยนการขนส่งสินค้าไปสู่ระบบราง ซึ่งเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาและประเทศจีนตอนใต้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค