ซัพพลายเออร์อากาศยาน ขยายธุรกิจ

อัปเดตล่าสุด 2 พ.ค. 2561
  • Share :

Tohmei ได้ร่วมมือกับ Mitsubishi Heavy Industries ในการทำงานประกอบเครื่องบินของ Boeing และได้รับผิดชอบงานประกอบ MRJ บางส่วน อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้มีการขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ยานยนต์ และรถไฟมาแล้ว

ซึ่งสาเหตุที่ Tohmei มีความสามารถให้ตัดสินใจเช่นนี้ได้ เป็นผลมาจากการเข้าซื้อกิจการผู้ผลิต Carbon Fiber Reinforced Plastic (CFRP) ในจังหวัดนากาโนะและโอซาก้าในช่วงปี 2010 – 2011 ทำให้ Tohmei มีความสามารถในการทำงานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ Tohmei ก็ได้รวมบริษัททั้ง 2 แห่งที่เข้าซื้อกิจการให้กลายเป็นบริษัทเดียวกัน

นอกจากนี้ ในปี 2017 Tohmei ยังได้เข้าซื้อกิจการบริษัท Kato Tekkou เพื่อเข้าผลิตเบาะรองนั่งยานยนต์ให้กับ Toyota Boshoku ซึ่งนอกจากการเป็นการกระจายธุรกิจให้เข้าไปในอุตสาหกรรมยานยนต์มากยิ่งขึ้นแล้ว ยังทำให้ได้อุปกรณ์การผลิตที่ Kato Tekkou มีอยู่แต่เดิม เช่น Machine Tools เข้ามาเพิ่มความสามารถในการผลิตของตนให้สูงขึ้น เช่น งาน Process ชิ้นส่วน test Equipment ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แต่เดิมของ Tohmei ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องยอดขายรวมของธุรกิจด้านอากาศยานของทางบริษัทที่ตกลงมาจากเดิม เหลือเพียง 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ประธาน Ninomiya ยังคงยืนยันจะไม่ละทิ้งอุตสาหกรรมอากาศยาน และ “ความน่าเชื่อถือที่ได้รับมาจากอุตสาหกรรมอากาศยานจะเชื่อมโยงไปยังงานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ” และตัดสินใจเดินหน้าในอุตสาหกรรมคมนาคมต่อไป โดยมีอากาศยานเป็นเสาหลัก

ส่วนทาง Tech Sasaki ซึ่งมีงานประกอบอากาศยานเป็นเสาหลักของบริษัทเช่นกันนั้น ได้มองไปยังการเปิดธุรกิจใหม่ซึ่งใช้โดรน เช่น การถ่ายภาพทางอากาศ หรือการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน จึงได้เปิดสถาบันสอนบังคับโดรนขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 ที่ผ่านมานี้

โดยสถาบันแห่งนี้ ได้ก่อตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือจาก Japan Unmanned Vehicle Application Council (JUAVAC) โดยสถาบันแห่งนี้ ร่วมบริหารโดย Sasaki Group บริษัทแม่ของ Tech Sasaki และ Nippon Aerotech บริษัทร่วมทุนในเครือ Aero ธุรกิจประกอบอากาศยาน โดยสถาบันแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ Tech Sasaki และมีพื้นที่สำหรับซ้อมบิน 300 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ซ้อมบินภายในอาคารที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดไอจิ

โดยสถาบันแห่งนี้ ได้อาศัยองค์ความรู้จากงานประกอบอากาศยาน มาใช้ในการกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการซ้อมบิน ซึ่งพนักงานของทางบริษัทเอง ก็จะต้องผ่านการอบรมจากคอร์สของสถาบันแห่งนี้ เพื่อให้มีทักษะการบังคับดดรนที่เพียงพอในการต่อยอดใช้กับธุรกิจใหม่ ในด้านการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและถ่ายภาพทางอากาศ

สถาบันของ JUAVAC แห่งนี้ มีจุดเด่นคือคอร์สด้านการตรวจสอบทางอากาศด้วยโดรน ซึ่งการตรวจสอบทางอากาศนี้ เป็นหนึ่งในแนวคิด “i-Construction” ของ Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (MLIT) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งว่าด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในไซต์ก่อสร้าง

ซึ่งการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานด้วยวิธีการนี้จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย จึงเหมาะแก่การใช้ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น สะพานที่มีอายุมาก

โดย Tech Sasaki มีแผนส่งบุคลากรของตนจำนวน 10 คน เข้าร่วมคอร์สต่าง ๆ เป็นเวลามากกว่า 1 ปี เพื่อวางรากฐานให้กับธุรกิจใหม่ของทางบริษัท นอกจากนี้ ยังมีแผนนำองค์ความรู้จากการพัฒนาเครนเหนือศีรษะมาใช้อีกด้วย

ซึ่งทางบริษัท ยังมีแผนจะก้าวไปยังธุรกิจอื่น ๆ นอกจากโดรนอีก ซึ่งทางบริษัทได้ให้ความเห็นว่า อยากจะดำเนินการควบรวมและซื้อกิจการต่อไปในอนาคต


ผู้ผลิตเครื่องมือเตรียมเล็งอุตสาหกรรมอากาศยานเป็นเสาหลักที่ 2

ปัจจุบัน ผู้ผลิตเครื่องมือส่วนหนึ่งกำลังอยู่ระหว่างการลดระดับการพึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์ลง และเข้าสู่ตลาดอากาศยานกันมากขึ้น

โดยผู้ผลิต Cutting Tools รายใหญ่อย่าง OSG ได้มุ่งเป้าไปที่ผู้ผลิตรายย่อยในอุตสาหกรรมอากาศยานในยุโรปและอเมริกาซึ่งเป็นธุรกิจด้านงานแปรรูปชิ้นส่วน ซึ่งผลที่ได้คือ ยอดขายรวมจากธุรกิจอากาศยาน ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียง 10% จากรายได้ทั้งหมดของบริษัท สูงขึ้นไปอยู่ที่มากกว่า 50% จากรายได้ทั้งหมด แซงหน้าธุรกิจยานยนต์ซึ่งเป็นเสาหลักเดิมของบริษัทไป

Mr. Norio Ishikawa ประธานบริษัท OSG เล่าว่าปัจจุบันทางบริษัทกำลังรุกตลาดในประเทศสหรัฐฯ โดยเล็งไปที่ผู้ผลิตรายย่อยแบบ Job Shop ซึ่งรายได้รวมจากประเทศสหรัฐฯ ในปัจจุบันนั้น คิดเป็น 20% ของรายได้จากอุตสาหกรรมอากาศยานของ OSG

เนื่องจากในสหรัฐฯ Job Shop มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้ผลิตเครื่องมือในพื้นที่เป็นอย่างมาก สิ่งสำคัญสำหรับ OSG จึงเป็นการสร้างแรงดึงดูดให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ของตน ด้วยเหตุนี้เอง OSG จึงนำเสนอเทคโนโลยีสำหรับงานวัสดุที่ตัดเฉือนได้ยาก เช่น ไทเทเนียม และ CFRP (Carbon Fiber Reinforced Polymer) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัสดุที่มีการใช้งานแพร่หลายในอุตสาหกรรมอากาศยาน

นอกจากนี้ OSG ยังทำการเข้าซื้อธุรกิจผู้ผลิตเครื่องมือในสหรัฐฯ เพื่อเปลี่ยนลูกค้าเดิมของธุรกิจเหล่านั้นให้กลายเป็นลูกค้าตน ซึ่งได้เข้าซื้อธุรกิจในอเมริกาเหนือรวมแล้ว 4 ราย ในช่วง 3 ปีให้หลังมานี้

อีกรายหนึ่งคือ TOYODA VAN MOPPES ผู้ผลิต Grinding Wheel ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ JTEKT นั้น ยังคงโฟกัสไปที่อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลักเช่นเดิม แต่ก็มีแผนจะเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจเพิ่มด้วยการเล็งไปที่อุตสาหกรรมอากาศยาน ด้วยการนำเสนอแนวทางการตัด Inconel วัสดุตัดเฉือนยากซึ่งถูกใช้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์อากาศยาน และชิ้นส่วนอื่น ๆ

โดยเศษตัด (Chip) ของ Inconel มีลักษณะยาวและมีเนื้อนุ่ม และเป็นวัสดุที่แปรรูปได้ยากอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะแปรรูปด้วยการตัด และหากใช้ Wire Electrical Dischage และการเจียระไน ก็จะสามารถ Process งานที่มีความแม่นยำมากขึ้นได้

ด้วยเหตุนี้เอง TOYODA VAN MOPPES จึงพัฒนา Grinding Wheel รุ่นใหม่ขึ้นมา โดยนำเรซิ่นมาใช้เป็นสารยึดเกาะ (Binder) เพื่อให้กำจัดเศษตัดได้ง่ายขึ้น มีความหยาบผิวเฉลี่ย (Average Roughness) อยู่ที่ 50 นาโนเมตร ส่งผลให้สามารถ Process งานจนได้ผิวเรียบใกล้เคียงผิวกระจก