“Industry 4.0” the trend is now

อัปเดตล่าสุด 1 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 1,817 Reads   

แนวคิด Industry 4.0 ได้กลายเป็นที่แพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ยุโรปในช่วงหลังมานี้ ทั้งด้านการนำ Cooperating Robot หุ่นยนต์ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับคนได้, Digital Twin เทคโนโลยีจำลองโรงงานด้วยคอมพิวเตอร์, และอื่น ๆ ซึ่งเดิมทีเป็นเพียงแค่แนวคิด มาติดตั้งใช้งานภายในโรงงานจริง ๆ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีด้าน IoT และหุ่นยนต์โดยมากได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อธุรกิจรายใหญ่เป็นหลัก ทำให้เกิดปัญหาขึ้นข้อหนึ่ง คือความล่าช้าในการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง

ปลอดภัยหายห่วง
ABB Group ได้สาธิตการใช้งาน Cooperating Robot รุ่นต้นแบบที่พัฒนาขึ้นภายในงาน HANNOVER MESSE เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยอื่นเพิ่ม ด้วยเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้ด้านข้างหุ่นยนต์ ซึ่งจะแจ้งเตือนเมื่อมีคนเข้าใกล้ เพื่อให้หุ่นยนต์ทำงานช้าลง จนแม้เกิดการกระทบก็ไม่ทำให้บาดเจ็บ และหากเข้าใกล้มากขึ้น หุ่นยนต์ก็จะหยุดการทำงานลงไป ซึ่งเมื่อเทียบกับหุ่นยนต์รุ่นอื่น ๆ ที่ต้องถูกกระทบเสียก่อนจึงจะหยุดทำงานนั้น พบว่าเป็นรุ่นที่มีความเป็นไปได้สูงกว่ามากที่จะถูกพัฒนาต่อยอดไปเป็นหุ่นยนต์ขนาดใหญ่


ส่วนทางด้าน SAP นั้น ได้นำเสนอระบบสนับสนุนข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลที่รวบรวมจากผู้ผลิตเครื่องจักร บริการด้านการซ่อมบำรุง รวมถึงข้อมูลของสายการผลิตให้กับ BASF ธุรกิจเคมีรายใหญ่สัญชาติเยอรมัน โดยข้อมูลซึ่งถูกนำเสนอนี้ จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามธุรกิจของลูกค้า และถูกออกแบบให้แสดงผลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อใช้แสดงข้อมูลต่าง ๆ เช่น ประวัติการซ่อมบำรุงเครื่องจักร เปรียบได้กับการนำฟังก์ชั่นที่คุ้นเคยจาก Social Network Service (SNS) มาใช้ในโรงงาน

เชื่อมเครื่องจักรต่าง ๆ เข้าหากัน
Siemens ได้พัฒนา “MindSphere” ระบบปฏิบัติการณ์ด้าน IoT ซึ่งในรุ่นล่าสุดมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อเครื่องจักรของผู้ผลิตต่างค่ายเข้าหากันได้โดยง่าย ทำให้สามารถจำลองระบบการทำงานตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการจัดส่งขึ้นไปอยู่บนคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้น


ส่วนทางด้าน Beckhoff Automation ได้นำ “Alexa” ระบบ AI สั่งการด้วยเสียง ซึ่งมีคุณสมบัติในการแยกแยะเสียงพูดที่ Amazon.com พัฒนาขึ้น มาพัฒนาต่อยอดเป็นระบบควบคุมเครื่องจักรด้วยเสียง ร่วมกับเทคโนโลยี 5G และโปรโตคอลระบบเครือข่ายความเร็วสูง “EtherCAT” เพื่อให้ได้เป็นระบบจำลองโรงงานแบบเรียลไทม์ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบในขณะนี้ โดยสาเหตุที่ Beckhoff ตัดสินใจทดลองโครงสร้างรูปแบบนี้ แทนที่การใช้ระบบรับส่งข้อมูลแบบไร้สายนั้น เป็นผลจากปัญหาในเรื่องความล่าช้าของการรับส่งข้อมูลแบบไร้สาย ซึ่งทางบริษัทเล็งเห็นว่าไม่เหมาะสมกับการนำมาใช้ภายในโรงงาน


ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีอุปสรรคอีกอย่างที่ขวางกั้นความแพร่หลายของ Industry 4.0 ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวมอยู่


ฝ่ายบริหารของ Bosch และ Microsoft กล่าวในพิธีเปิดงาน HANNOVER MESSE ว่า “แม้กระทั่งในเยอรมนี ก็มีธุรกิจขนาดเล็กและกลางอีกไม่น้อยที่ยังไม่อาจก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลได้”

เครื่องมือไม่เพียงพอ
ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในประเทศเยอรมนีคือกำลังสำคัญในการส่งออกของประเทศ อย่างไรก็ตาม Mr. Joachim Seidelmann จาก Fraunhofer Society ได้กล่าวว่า “ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีของธุรกิจเหล่านี้ในประเทศเยอรมนีต่ำกว่าในประเทศญี่ปุ่นอยู่”


แม้ว่าในยุโรปจะมีบริการด้าน IoT ที่มีคุณภาพจำนวนมาก แต่กลับมีเครื่องมือ IoT ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายน้อย ต่างจากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตนั้น จำเป็นต้องให้ธุรกิจในทุกขนาดมีความสามารถในการเข้าถึงเครื่องมือและบริการเหล่านี้ได้โดยง่ายเสียก่อน