ITAP-สวทช. ติดอาวุธ “เถ้าแก่โรงงาน” สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการให้คำปรึกษา สู่โรงงาน
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 9 สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ. หรือ KMUTNB) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) จัดสัมมนา “ปลุกกระแสผู้ประกอบการสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยี”
เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือต่าง ๆ ในการบริหารจัดการโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีบริหารจัดการคลังสินค้าด้วยอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) หรือ ไอโอที (IoT) การออกแบบและสร้างเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ เพื่อพัฒนาไปสู่โรงงานอัจฉริยะ ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการโรงงาน 100 รายเข้าร่วมฟังสัมมนา
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. เปิดเผยว่า ภารกิจของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คือ สนับสนุน SMEs ไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการผลิต สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ โปรแกรม ITAP สวทช. มีผู้ประกอบการโรงงานเข้าร่วมฟังสัมมนากว่า 100 ราย พร้อมรับสมัครผู้ประกอบการโรงงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 20 ราย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงงานวิจัยและพัฒนา เข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการแต่ละราย รวมทั้งมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาในเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ โปรแกรม ITAP สวทช. มีงบสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่าย (เฉพาะค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ ค่าวิเคราะห์/ทดสอบ และค่าวัสดุสิ้นเปลืองใช้แล้วหมดไป) ทั้งนี้เงื่อนไขของการรับการสนับสนุนต้องเป็น SMEs ทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 200 ล้านบาท และเป็นนิติบุคคลที่ผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถเติบโตและอย่างแข็งแกร่งก้าวไปสู่เอสเอ็มอีไทย 4.0 ต่อไปโดยภายหลังจากการอบรมแล้ว โดยรับสมัครผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 20 ราย ซึ่งนอกเหนือจากงบสนับสนุนดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับสิทธิให้ผู้เชี่ยวชาญเยี่ยมชมโรงงาน เพื่อรับฟังปัญหาในเชิงลึกและความต้องการของผู้ประกอบการพร้อมทั้งหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่โรงงานอัจฉริยะ
นายสงกรานต์ บางศรัณย์ทิพย์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการโรงงานไปสู่โรงงานอัจฉริยะนั้น สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องทำคือ พัฒนาบุคลากรของโรงงานให้มีทักษะ และมีองค์ความรู้ เพราะเมื่อบุคลากรมีองค์ความรู้ก็สามารถทำให้โรงงานเป็นระบบ 4.0 ขึ้นได้ เพื่อตอบสนองตลาดผู้บริโภคที่หลากหลาย นอกจากนั้นแล้วต้องยอมรับว่า ตลาดการผลิตจะไม่อยู่เฉพาะที่ใดที่หนึ่งอีกต่อไป ดังนั้นหากผู้ประกอบการโรงงานไม่ปรับตัว ในอนาคตอันใกล้จะเกิดโรงงานใหม่กระจายในเขตพื้นที่ที่มีอุปสงค์ หรือพื้นที่ที่เหมาะสมด้านการกระจายสินค้า ซึ่งโรงงานที่เกิดใหม่นี้จะมีขนาดเล็ก และขนาดกลาง มีพื้นที่โรงงานไม่เยอะ มีพนักงานไม่เยอะ แต่เป็นพนักงานที่มีทักษะเฉพาะทาง รวมถึงมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความยืดหยุ่นสูง พร้อมที่จะผลิตสินค้าตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากวงจรของสินค้านั้นสั้นลง เพราะฉะนั้นหากผู้ประกอบการโรงงานขนาดใหญ่ไม่ปรับตัวก็อาจจะเสี่ยงต่อการปิดกิจการได้
สำหรับการสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการโรงงานครั้งนี้ โดยโปรแกรม ITAP สวทช. และ มพจ. ร่วมกันจัดขึ้นนั้นถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโรงงาน โดยเฉพาะเจ้าของโรงงานที่เป็นรุ่นบุกเบิกหรือรุ่นพ่อ ที่มีแผนจะถ่ายถอดการเป็นผู้ประกอบการโรงงานไปสู่รุ่นลูก ซึ่งหากได้มารับฟังในการสัมมนาครั้งนี้จะได้รู้ทันว่าเด็กรุ่นใหม่สื่อสารอะไรกันและเพื่อให้เกิดการปรับตัวของผู้ประกอบการโรงงานให้ทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนั้นแล้วยังได้แลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการโรงงานอื่น ๆ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญที่มีโอกาสเข้าไปตรวจโรงงานที่หลากหลายและพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จในการทำให้โรงงานไปสู่เป้าหมายโรงงานอัจฉริยะได้