วาระเร่งด่วน ประธานป้ายแดงกลุ่มยานยนต์ ผนึกกำลังซัพพลายเออร์รายเล็กสู่บิ๊กคลัสเตอร์
อุตสาหกรรมยานยนต์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย ด้วยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและประกอบตัวรถให้กับค่ายรถยนต์ทั่วโลกเกือบทั้งหมด ตัวเลขการผลิตส่งออกวันนี้โตสูงถึง 13.33% หรือกว่า 98,625 คัน (ณ เดือน ก.พ. 2561) ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 4.05% กว่า 102,217 คัน แต่กระนั้นเองเมื่อสงครามการค้าปะทุขึ้นจากประเทศที่เคยเป็นคู่ค้ากลับมาเป็นประเทศคู่แข่ง แล้ววันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะไปในทิศทางไหน “ครรชิต ไชยสุโพธิ์” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ป้ายแดงจากบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดเข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2561 แทน “องอาจ พงศ์กิจวรสิน” ที่ครบวาระให้สัมภาษณ์กับ”ประชาชาติธุรกิจ” ถึงอนาคตต่อจากนี้
นโยบายวาระปี 2561-2563
ภารกิจสำคัญที่จะขับเคลื่อนกลุ่มยานยนต์ได้ดีที่สุดในตอนนี้ได้กำหนดขึ้นมา 8 นโยบาย คือ
1. ต้องสร้างบทบาทของกลุ่มให้เป็นที่พึ่งของสมาชิก และนานาชาติ
2. ใช้การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของสมาชิกคลัสเตอร์ยานยนต์ทั้งระบบ
3. เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างกลุ่มกับองค์กรภายนอกและกับสมาชิก เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
4. รักษาฐานการผลิตในประเทศ และต้องสร้างบทบาทการเป็นผู้ชี้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในทุกด้าน ให้ความสำคัญเทคโนโลยีทุกประเภท เพื่อสร้างโอกาสให้กับสมาชิกทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมสนับสนุน
5. สร้างพันธมิตรกับสถาบันการศึกษา บริษัทที่ปรึกษา หน่วยงานวิจัยอิสระ และองค์กรนานาชาติ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์
6. จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และนำความรู้ที่ได้รับเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
7. พัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำงาน และมีบทบาท
8. กระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกลุ่ม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สร้างความร่วมมือบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มีความเป็นกลาง
วาระเร่งด่วน
ทางกลุ่มยังมีภารกิจเรื่องการเข้าไปร่วมกับทาง 11 สถาบันภายใต้สังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อที่จะใช้การประชุมหารือในนโยบายเพื่อจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปพร้อมกันที่จะควบคู่ไปกับภาคเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นการเดินหน้าตามแนวทางประชารัฐ โดยเฉพาะการดึงให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รายเล็กเข้าไปมีส่วนร่วมกับรายใหญ่ เป้าหลักคือการมารวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ให้ได้ เนื่องจากเมื่อรวมกลุ่มแล้ว อุตสาหกรรมยานยนต์จะไม่ใช่มีเพียงผู้ผลิต ผู้ประกอบรถยนต์เพื่อขายเพื่อส่งออกรายใหญ่ ๆ เท่านั้น แต่เราจะได้รายที่ผลิตชิ้นส่วนเล็ก ๆ เป็นซัพพลายเออร์ป้อนให้กับรายใหญ่ เมื่อทั้งหมดถูกเข้ามาเป็นซัพพลายเชนมันจะช่วยดึงให้รายเล็กได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมอย่างมาก ขณะที่ศักยภาพรายเล็กของไทยเองยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกให้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ
สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า ล่าสุดเรื่องกีดกันทางการค้ากับทางประเทศเวียดนาม ที่เราโดนเวียดนามห้ามนำเข้ารถที่ผลิตจากประเทศไทย แม้ภาครัฐจะมีความพยายามช่วยแก้ปัญหา แต่ในท้ายที่สุดถึงเวียดนามจะผ่อนคลายมาตรการกีดกันทางการค้าลง ก็ยังมีผลกระทบอยู่ดี ซึ่งจากที่เราไม่สามารถส่งรถเข้าเวียดนามได้ช่วงตลอด 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ. 2561) ประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ถึง 4,000 ล้านบาท (ขณะที่ไทยเองส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามปีละ 40,000 คัน/ปี เฉลี่ย 3,000-4,000 คัน/เดือน เฉลี่ยราคารถ 1,000,000 บาท/คัน)
ความกังวลต่ออุตฯ ในอนาคต
ประเทศอื่นที่เป็นคู่ค้ากับไทย ที่นำเข้ารถยนต์ และประเทศที่สนับสนุนแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนกัน หรือพึ่งพากันในอุตสาหกรรมยานยนต์มาโดยตลอด จะกลายมาเป็นประเทศคู่แข่งกันเอง จากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี non-tariff barriers : NTB) โดยเอากรณีของเวียดนามมากีดกันทางการค้า ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องมีกลไกและมาตรการมาช่วยเหลือโดยด่วน แม้ที่ผ่านมา
ระดับนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงระดับรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้จัดเวทีพบปะหารือกันแล้วก็ตาม และยังต้องการให้รัฐใช้เวทีเจรจาแบบรัฐต่อรัฐให้ได้ผลก่อนที่ไทยตัดสินใจ ยื่นคำร้องเพื่อฟ้องต่อ องค์การการค้าโลก (WTO)