ลุ้น BOI เพิมสิทธิพิเศษหุ่นยนต์ ให้โรงงานผู้ผลิตยกเว้นภาษีบวกเพิ่มอีก 5 ปี
อุตฯ เตรียมอัดแพ็กเกจใหม่ เว้นภาษีผู้ผลิตที่ใช้หุ่นยนต์อีก 5 ปี พร้อมจับมือ 9 หน่วยงานตั้ง “ศูนย์ CoRE” กระตุ้นลงทุน ส่วนเอกชนไทย 6 รายรอลุ้นบอร์ดบีโอไอเคาะแพ็กเกจใหม่ก่อนเทงบฯ ลงทุน 12,000 ล้าน
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า กลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้หารือ เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ผลิตที่ลงทุนในประเทศ ประเภทแขนกลประมาณ 4-5 ราย และผู้ผลิตระบบ System Integrator (SI) ประมาณ 100 ราย ที่กำลังจะลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต ระบบภายในไปสู่การใช้ Automation และ SI หรือจากผู้ผลิตมาสู่การเป็นผู้ใช้
โดยเบื้องต้นคาดว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะพิจารณาเพิ่มการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 5 ปีจากเดิมที่เคยได้รับ 8 ปี เนื่องจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนเดิมที่ให้เห็นชอบไปแล้วนั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงส่วนของผู้ผลิตมาสู่ผู้ใช้มาตรการ หากพิจารณาให้สิทธิประโยชน์เพิ่มจะช่วยกระตุ้นความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น
พร้อมกันนี้ ทางคณะทำงานยังได้ “ทบทวน” มาตรการการดำเนินงานที่ดำเนินการไปแล้วและปรับมาตรการใหม่ที่จะเริ่มใช้เป็นภาคปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดการลงทุนจริงภายในปีนี้ โดยล่าสุดเตรียมจัดตั้ง หน่วยงาน Center of Robotic Excellence (CoRE) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการใช้งานหุ่นยนต์ด้านต่าง ๆ โดย CoRE จะประกอบไปด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, BOI, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , สมาคมเครื่องจักรกลระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
เบื้องต้นจะช่วยกลุ่มเป้าหมายประมาณ 500 รายในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร/เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming), อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ จะได้สิทธิประโยชน์สามารถซื้อหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติราคาไม่เกิน 450,000 บาท/ตัว พร้อม Platform และได้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อซื้อหุ่นยนต์จากธนาคารพาณิชย์ ได้รับการวิเคราะห์ทางด้านวิศวกรรมได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษา/ฝึกอบรมประมาณ 150 ราย
นายศิริรุจ กล่าวถึงความคืบหน้าของนักลงทุนที่แสดงความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ขณะนี้ได้เริ่มทยอยลงทุนแล้ว โดยในส่วนของ 6 บริษัท (ตารางประกอบ) ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนถึง 12,000 ล้านบาทนั้น “กำลังอยู่ระหว่างการรอให้แพ็กเกจหุ่นยนต์ผ่านบอร์ด BOI อีกรอบอย่างเป็นทางการ เมื่อนิ่งแล้วเชื่อว่าจะทำให้เห็นการลงทุนเพิ่มขึ้น”
ด้าน รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน คณะอนุกรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์ กล่าวว่า
ทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตอย่างเช่น บริษัท Kuka ของเยอรมัน, บริษัท Yaskawa ของญี่ปุ่น, บริษัท ABB ของสวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์นั้น ยังคงเป็นเป้าหมายที่ต้องการให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกันนักลงทุนดังกล่าวเคยแสดงความสนใจการลงทุนแล้วเช่นกัน
“ตอนนี้ถ้าการใช้หุ่นยนต์เกิดในประเทศมากขึ้น ส่วนของผู้ผลิตจะเข้ามาลงทุนแน่นอน ระหว่างนี้จะเป็นช่วงของการสร้างตลาด demand ขึ้นในประเทศก่อน ดังนั้นโรดแมปและมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในแนวประชารัฐจึงยังคงกำหนด 3 ส่วนหลักคือ การกระตุ้นอุปสงค์ การสนับสนุนอุปทาน และการพัฒนาบุคลากร” รศ.ดร.ชิตกล่าว
สำหรับมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่ได้ดำเนินงานแล้ว ประกอบด้วย ในส่วน BOI จะทบทวนและปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการโดยการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของเงินลงทุนเป็นเวลา 3 ปีให้ครอบคลุมประเภทกิจการกลุ่ม B
ทั้งยังเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ในกรณีการใช้เครื่องจักรที่มีการเชื่อมอยู่หรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าเพิ่มจากที่มีการปรับเปลี่ยนให้ได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของเงินลงทุนเป็นเวลา 3 ปี
ตลอดจนเพิ่มกิจการผลิตเครื่องจักรและ/หรืออุปกรณ์อัตโนมัติที่มีการออกแบบทางวิศวกรรม และขั้นตอนการผลิตและออกแบบระบบอัตโนมัติ (Automation System Integration : SI) รวมถึงขั้นตอนการออกแบบระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยระบบสมองกล ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในระดับ A1
ทั้งนี้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้รับอนุญาตให้สามารถขอใช้ กองทุนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว โดยจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุดถึง 15 ปี กระทรวงการคลัง (สำนักเศรษฐกิจการคลัง) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้สิทธิประโยชน์ในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี โดยนิติบุคคลสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า
ขณะที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) พิจารณาให้ผู้ประกอบการที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตด้วยการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อยู่ในขอบข่ายการพิจารณาส่งเสริมเป็นพิเศษในการใช้กองทุนพัฒนา SMEs แล้ว ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดมีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติเงินกู้จากกองทุนแล้ว 3 ราย รวมวงเงิน 10.4 ล้านบาท นอกจากนี้ (กสอ.) ยังได้ตั้งศูนย์เรียนรู้กระบวนการผลิต (LASI) ร่วมกับบริษัท DENSO ด้วย
ส่วนสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และกระทรวงการคลัง และกรมศุลกากร ให้สิทธิ “ยกเว้น” อากรขาเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ฯ พิกัด 12 กลุ่ม รวมถึงลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรเป็นการเฉพาะสำหรับชิ้นส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (มาตรา 12 พ.ร.บ. พิกัดศุลกากร พ.ศ. 2530)
อ่านต่อ
โครงการ Lean Automation System Integrator (LASIs)
DENSO หวัง ‘ความเติบโตของ SI ในไทย’ ผ่านโครงการ LASIs
พร้อมเดินหน้าพัฒนา ‘Robotics and Automation’ ในไทย คาดปี 2569 สามารถผลิตหุ่นยนต์ส่งออกได้