สินเชื่อทรานส์ฟอร์เมชั่นและค่าจ้างที่ปรึกษา ให้เอสเอ็มอี ใช้ระบบอัติโนมัติและหุ่นยนต์
นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการ สถาบันไทย-เยอรมัน ได้เปิดเผยว่าหลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมันเข้ามาประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมไทย พบว่า อุตสาหกรรมไทยยังคงอยู่ในช่วงของยุคอุตสาหกรรม 2.0 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีโครงการการยกระดับการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) โดยขณะนี้อยู่ในช่วงการประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และตั้งเป้าไว้ว่าจะมี SME จำนวน 300 รายนำระบบอัติโนมัติและหุ่นยนต์ไปใช้ภายในปีนี้ และมีเป้าหมายให้เอสเอ็มอีเข้าร่วม 10,000 รายภายในปี 2563
ผู้อำนวยการ สถาบันไทย-เยอรมัน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางหลายแห่งได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแล้ว ในขณะที่เอสเอ็มอีจำนวนมากยังกังวลไม่กล้าที่จะลงทุนใช้หุ่นยนต์ และหากเอสเอ็มอียังไม่พัฒนาตัวเองอาจแข่งขันกับคนอื่นลำบาก ซึ่งเรายืนยันว่าถ้าปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นหุ่นยนต์จะใช้เวลาเพียง 1 ปีในการคืนทุน และยังจะส่งผลดีในระยะยาว โดยปี 2562 ตั้งเป้าดึงเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการ 3,000-4,000 ราย และเพิ่มเป็น 10,000 ราย ภายในปี 2563 มั่นใจภายใน 3-4 ปีจะเห็นการเติบโตของระบบอัตโนมัติถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และหุ่นยนต์”
โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีงบช่วยเหลือค่าจ้างที่ปรึกษารายละ 100,000 บาท จำนวน 300 รายภายในปีนี้ และมีวงเงินงบประมาณช่วยเหลือของ กสอ. เพิ่มในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรมอีกจำนวน 20 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 50 ล้านบาท
ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะคัดเลือกผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 100 ราย ผู้ประกอบการในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 40 ราย และกสอ.คัดเลือกจากผู้ประกอบการทั่วประเทศอีก 70 ราย เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถดูรายละเอียดและดาวน์โหลดใบสมัคร “โครงการยกระดับผลิตภาพสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ได้ที่ http://www.tgi.or.th/news-detail.php?tr_id=882 ซึ่งนอกจากจะได้รับงบช่วยเหลือค่าที่ปรึกษาจำนวน 100,000 บาทแล้ว ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะช่วยในเรื่องของการพัฒนาทักษะของบุคคลากรเพิ่มอีกด้วย
ส่วนในปีหน้า 2562 จะเพิ่มการช่วยเหลือเอสเอ็มอี อีก 1,000 ราย ส่วนวงเงินสำหรับใช้ลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสู่ยุค 3.0 สามารถกู้ได้จาก สินเชื่อทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งได้สำรองงบประมาณเอาไว้สำหรับโครงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีโรโบติกส์หรือหุ่นยนต์ 2,000 ล้านบาทจากวงเงินสินเชื่อรวมทั้งหมด 20,000 ล้านบาท
อ่านต่อ: ไทยอันดับ 1 ในอาเซียน ที่มีอัตราการเติบโตของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสูงสุด