ไทยซัมมิท จัดทัพใหญ่ ธนาธร ขึ้นหลังเสือ อนาคตใหม่

อัปเดตล่าสุด 19 มี.ค. 2561
  • Share :
  • 1,166 Reads   

สปอตไลต์ธุรกิจ-การเมือง ฉายไปที่กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท และตระกูล "จึงรุ่งเรืองกิจ" เจิดจ้าอีกรอบ เมื่อ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ทายาทคนสำคัญของ "พ่อพัฒนา" ผู้ล่วงลับ และ "มารดาสมพร" สตรีที่แข็งแกร่งแห่งตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ”เตรียมอำลาตำแหน่ง "รองประธานกรรมการบริหาร" 

ธุรกิจยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์แห่งภูมิภาคเอเชีย ที่กำลังสยายปีกไปอีกฝั่งทวีปอเมริกา เพื่อรองรับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ถึงเวลา "ผลัดใบใหม่" อีกฤดูกาล เป็นการผลัดใบจากขั้วธุรกิจ ไปผลิใบใหม่ในขั้วการเมือง

ชื่อ "ธนาธร" จะถูกลบจากโปรไฟล์ของ "กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท" เมื่อถึงวันที่ชื่อเขาต้องปรากฏเป็น "หัวหน้า-กรรมการบริหาร" พรรคอนาคตใหม่  ครอบครัว "จึงรุ่งเรืองกิจ" ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงนี้มาตั้งแต่โรดแมปการเลือกตั้งดังกระหึ่มขึ้น

สมพร-ผู้เป็นทั้งแม่ และประมุขหญิงแห่งค่ายไทยซัมมิท แม้ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในเส้นทางใหม่ แต่ให้ฉันทานุมัติ "ส้มมงคล" คือขวัญ และสินทรัพย์ล้ำค่าทางจิตใจ ชิ้นแรกที่ "แม่-สมพร" มอบให้ "ลูกชาย-ธนาธร" ในวันจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง เมื่อ 15 มีนาคม 2561

ในการแถลงเปิดตัวพรรคอย่างไม่เป็นทางการ พี่-น้อง เกือบทั้งครอบครัว มาส่งกำลังใจหลังเวที ทั้ง "ชนาพรรณ" พี่สาว-ผู้กุมทิศทางและหางเสือไทยซัมมิท น้องชาย "สกุลธร" ที่ถูกวางตัวขึ้นมากุมบังเหียนธุรกิจในอนาคต แทนที่ "ธนาธร" น้องชายคนเล็ก "บดินทร์ธร" ที่ต้องเข้าสู่วงการธุรกิจในระยะต่อไป และน้องสาว "รุจิรพรรณ"

"ชนาพรรณ" จัดทัพไทยซัมมิท

"ชนาพรรณ" สนทนากับ "ประชาชาติธุรกิจ" ทั้งเรื่องอนาคตน้องชายในถนนสายการเมือง และโรดแมปครอบครัวในเส้นทางธุรกิจ เธอบอกว่า ครอบครัว "จึงรุ่งเรืองกิจ" อยากแยกภาพการเมืองกับภาพธุรกิจ ออกจากกันอย่างชัดเจน ถ้า "ธนาธร" จัดตั้งพรรคได้สำเร็จ เขาก็ต้องลาออกจากบริษัทไปตลอด คงไม่กลับมาทำธุรกิจสมาชิกครอบครัว เตรียมรับภารกิจต่อจาก "ธนาธร" ในวาระเช่นนี้ครอบครัวจะต้องผนึกกันมากขึ้น คนอื่นจะตั้งหลักอยู่ในบริษัท ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

"ชนาพรรณ" แนะนำให้รู้จักกับน้องชายคนกลาง-สกุลธร ที่ครอบครัวปลุกปั้น-คาดหวังจะเข้ามาทำหน้าที่แทน "ธนาธร" และ "บดินทร์ธร" น้องชายคนเล็ก ที่จะเข้ามาร่วมกันทำธุรกิจในหลาย ๆ ยูนิต "เราก็เตรียมจัดทัพครอบครัวหลังจากธนาธรลาออก จากนั้นจะให้น้องชายคนกลางเข้ามาทำหน้าที่รับไม้ต่อ คาดว่าทุกอย่างจะเป็นช่วงปลายปีนี้" เธอมุ่งมั่นว่า "บริษัทและครอบครัวต้องเทรนนิ่งน้องชาย ให้ sharp-มีความคม ลุ่มลึก ให้เข้าใจธุรกิจของเราให้ถ่องแท้มาก ๆ" แล้วจึงเปิดตัว

ส่วนตัวเธอเองนั้น กล่าวอย่างหนักแน่นมั่นใจว่า "เอาอยู่" แม้ธนาธรจะเลิกเป็นนักธุรกิจ "เราก็อยู่ที่เดิม...เพิ่มเติมคือน้ำหนักของงานที่มากขึ้น จากเดิมเคยแบ่งกันบริหารงานกับธนาธรสัดส่วน 50/50 ตอนนี้ก็ต้องรับมาทั้ง 100 ก่อน"

"ความมั่นคงในครอบครัวก็เหมือนเดิม เราเชื่อมั่นว่าทุกคนในครอบครัวมีศักยภาพในการบริหารธุรกิจ"

เธอบอกว่า แม้-คุณแม่สมพร จะไม่สนับสนุน แต่ก็แสดงความห่วงใยถึงอนาคตใหม่ของน้องชาย ก่อนแถลงข่าว-จดทะเบียนพรรค ทำให้ "แม่สมพร"ถึงกับนอนไม่หลับทั้งคืน "จากนี้ไปคงเหนื่อย...แต่ไม่ท้อใจ ตอนที่คุณพ่อเสีย เราก็เหนื่อยหนัก แต่ก็ผ่านมาได้ ครั้งนี้น้องชายไม่ได้จากไปไหน ยังอยู่ แต่ไม่ได้ร่วมบริหารธุรกิจเท่านั้น"

ผังธุรกิจใหม่ "ไทยซัมมิท"

ปรัชญาหนึ่งของธุรกิจในเครือไทยซัมมิท คือ "พัฒนาคน" ให้มีศักยภาพเป็นลำดับแรก เพื่อทำให้เกิดการสร้างรายได้ 5.1 ล้านบาท/หัว/คน ในปี 2565 ตระกูล "จึงรุ่งเรืองกิจ" จับมือตระกูล "จุฬางกูร" ควบกิจการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้ง 2 ตระกูล มีส่วนแบ่งการตลาดแบบกวาดเรียบในธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ในเมืองไทยมากกว่า 80%

กิ่งตระกูล-จึงรุ่งเรืองกิจ คือ "กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท" ก้านตระกูล-จุฬางกูร สร้างชื่อในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ "กลุ่มบริษัทซัมมิทกรุ๊ป" "สมพร" เจ้าแม่กลุ่มไทยซัมมิท ในวันนี้ คือ น้องสาวของพี่ชาย "สรรเสริญ จุฬางกูร" ซึ่งชักชวนเข้าสู่วงการธุรกิจ ที่เริ่มจากร้านซ่อมเบาะรถจักรยานยนต์

สร้างอาณาจักรไทยซัมมิท คร่ำหวอดในแวดวงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ แตกกอต่อยอดบริษัทในเครือมากกว่า 40 บริษัท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ในพี่น้องของ "ธนาธร" นั้น แบ่งผังธุรกิจโดยให้บุตรสาวคนโต "ชนาพรรณ" กุมบังเหียน รองประธานกรรมการ บริษัทไทยซัมมิท โอโต พาร์ท อินดัสตรี จำกัด

น้องชาย-น้องสาว ทั้ง 4 คน ร่วมบริหารกิจการ สนามกอล์ฟ "พัฒนากอล์ฟ แอนด์ สปอร์ท รีสอร์ท" ที่อำเภอศรีราชา ซึ่ง "แม่สมพร" จดทะเบียนในชื่อลูกทั้ง 5 คน

สาแหรกของกลุ่มธุรกิจ "ไทยซัมมิท-จึงรุ่งเรืองกิจ" ก่อตั้งปี 2520 มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ตั้งโรงงานกระจายอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง, ระยอง, นครนายก สมุทรปราการ ส่วนในต่างประเทศมีโรงงานทั้งในจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, อเมริกา และเวียดนาม

"ไทยซัมมิท" จุดแข็งคือ มีศูนย์อาร์แอนด์ดี-วิจัยและพัฒนา เป็นแนวทางสำคัญของการดำเนินงาน เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขัน และเป็นเจ้าของนวัตกรรมรายแรกที่มีการนำเทคนิค servo motor มาใช้ในเครื่องจักรการผลิต ผนวกกับเทคโนโลยีการตัด และเชื่อมด้วยเลเซอร์ (laser welding) ในกระบวนการผลิต ทำให้ชิ้นส่วนรถยนต์มีคุณภาพสูงผนึกกับบริษัทโอกิฮาร่า ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในเครือ ช่วยเสริมให้สามารถผลิตชิ้นส่วนของ body ได้ครบทั้งคัน

ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนประกอบภายในและชิ้นส่วนประกอบภายนอก กลุ่มสายไฟที่ใช้กับยานยนต์ทุกประเภท ฯลฯ 800,000 ชุดต่อปี ผลิตโครงสร้างตัวถังรถจักรยานยนต์กว่า 1 ล้านชิ้นต่อปี

ผนึกเทสล่า-ล่าฝันแสนล้าน

กลุ่มไทยซัมมิทริเริ่มพัฒนานวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอเนกประสงค์ฝีมือคนไทยภายใต้ชื่อ Cario ทั้งแบบ 2 ที่นั่ง 4 ที่นั่ง และ 6 ที่นั่ง จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและการร่วมลงทุนกับบริษัทเพรส โคเงียว ญี่ปุ่น ผลิตชิ้นส่วนฐานรถยนต์ที่ซับซ้อนความปลอดภัยสูง ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก

"เทสล่า" ผลิตตัวถังรถยนต์ มีกำลังผลิต 500,000 คันต่อปี ใช้โรงงานไทยซัมมิทในรัฐมิชิแกน และเคนทักกี สหรัฐอเมริกาเป็นฐานการผลิต

ภายใต้ปรัชญาชีวิตของ "แม่-สมพร" นางสิงห์แห่งไทยซัมมิท คือ "ถ้าไม่นิ่ง...เป็นอะไรก็ไม่ได้" นำพากิจการทะยานข้ามทวีป ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 ตั้งเป้ารายได้แตะ 1.1 แสนล้านในปี 2565 พร้อมกำเงินสด 2.5 หมื่นล้าน เตรียมลงทุนใน-ต่างประเทศทั้งแม่-พี่สาว-น้องสาว และ 2 น้องชาย ร่วมกันเคลื่อนธุรกิจ ในวันที่ ทายาท "จึงรุ่งเรืองกิจ" คนสำคัญออกไปเคลื่อนการเมือง