เปิด TOR รถไฟไฮสปีดอีอีซี พ่วงที่ดินมักกะสัน-แอร์พอร์ตลิงก์

อัปเดตล่าสุด 16 ก.พ. 2561
  • Share :
  • 633 Reads   

รัฐเร่งแจ้งเกิดไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ดึงนักลงทุนทั่วโลกปักหมุดอีอีซี 2 แสนล้าน เปิดกว้างทุกออปชั่น แถมเงินอุดหนุน แลกสัมปทาน 50 ปี เหมาเดินรถไฟความเร็วสูง แอร์พอร์ตลิงก์ พ่วงพัฒนาที่ดินสถานีมักกะสัน 140 ไร่ ศรีราชา 30 ไร่ ยักษ์รับเหมา บิ๊กรถไฟฟ้า ค้าปลีก อสังหาฯ ชิงดำ

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เดือน มี.ค. 2561 จะเปิดประมูลนานาชาติให้เอกชนไทยและต่างชาติลงทุน PPP Net Cost (สัมปทาน) 50 ปี ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-มักกะสัน-อู่ตะเภา) ระยะทาง 226 กม. มูลค่า 2 แสนล้านบาท เป็นงานโยธาและระบบ 1.6 แสนล้านบาท เงินลงทุนพื้นที่มักกะสันและศรีราชาอีก 45,155 ล้านบาท

รวมไฮสปีด-แอร์พอร์ตลิงก์

โดยรัฐจะลงทุนค่าเวนคืน 3,787 ล้านบาท และสนับสนุนเงินลงทุนที่ไม่เกินค่างานโยธา 1.2 แสนล้านบาท ส่วนเอกชนเป็นผู้ลงทุนงานโยธา ติดตั้งระบบ เดินรถ และซ่อมบำรุงตลอดอายุสัญญา พร้อมสิทธิพัฒาพื้นที่รอบ 9 สถานี คือ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา

รวมที่ดินมักกะสัน 140 ไร่ ศรีราชา 30 ไร่ เนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้สถานีมักกะสันเป็นเกตเวย์เชื่อมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งยังได้สิทธิการเดินรถและพัฒนาพื้นที่ 8 สถานี ที่จอดรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) รวมในสัมปทานเดียวกันด้วย เพื่อรองรับผู้ใช้บริการ city line (รับส่งระหว่างสถานี)

ส่วนทรัพย์สินของแอร์พอร์ตลิงก์ยังเป็นของ ร.ฟ.ท. แต่พนักงาน 400-500 คนของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก ร.ฟ.ท.จะต้องเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วย (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) ที่จะเปิดใช้ปี 2563

“เอกชนรายใหม่ที่รับสัมปทานรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะได้สิทธิบริหารและเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะเป็นแนวเส้นทางเดียวกัน สามารถบริหารปรับปรุงระบบเก่าใหม่ได้ รวมถึงซื้อรถใหม่ 7 ขบวน ตอนนี้ให้ชะลอไปก่อน เพื่อไปรวมกับโครงการนี้ เอกชนจะคล่องตัวกว่ารถไฟ”

เร่งหาเอกชนก่อนสิ้นปี

นายอานนท์กล่าวว่า ตามแผนจะได้ผู้ชนะประมูลในเดือน ส.ค.-ก.ย. และเซ็นสัญญาได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ระหว่างนี้จะให้เอกชนเร่งปรับระบบบริการและซื้อรถใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงก์เพิ่มจาก 72,000 เป็น 83,000-84,000 เที่ยวคนต่อวันแล้ว แต่มีรถวิ่งอยู่ 9 ขบวน

“โครงการนี้ใช้เงินเยอะ ทีโออาร์จึงต้องดึงดูดเอกชนมาร่วมลงทุน โดยหนุนเงินโยธาบางส่วน และปรับตำแหน่งสถานีได้ ทั้งให้สิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ พร้อมให้ที่ดินพัฒนา ส่วนเอกชนจะมีรายได้จากค่าโดยสารและพัฒนาเชิงพาณิชย์ตามแนวรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และแอร์พอร์ตลิงก์ ตลอด 50 ปี”

ขณะที่ ร.ฟ.ท.จะได้ส่วนแบ่งจากค่าโดยสารเมื่อปริมาณผู้โดยสารมาถึงจุดหนึ่ง ซึ่งกำลังดูรายละเอียดอยู่ ส่วนรายได้พัฒนาที่ดินมักกะสันและศรีราชา เอกชนต้องให้ผลตอบแทน ร.ฟ.ท.60% ของราคาประเมินที่ดิน โดยจ่ายเป็นรายปี เฉลี่ยปีละกว่า 1,000 ล้านบาท รวม 50 ปี คือ 5 หมื่นล้านบาท

รอเคาะต่างชาติถือเกิน 50%

นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.กำลังดูความชัดเจนใน พ.ร.บ.อีอีซี จะให้ต่างชาติถือหุ้นเกิน 50% หรือไม่ เนื่องจากต้องการให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนให้มากที่สุด เพราะประเทศไทยยังไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องรถไฟความเร็วสูง จึงให้ยื่นร่วมประมูลกับบริษัทไทย

“การประมูลล่าช้าเล็กน้อย แต่ปีนี้ต้องได้เอกชนลงทุน เพื่อเปิดบริการให้ได้ตามแผนในปี 2566 คาดมีผู้โดยสาร 169,550 เที่ยวคนต่อวัน แยกเป็นผู้ใช้บริการรถไฟธรรมดา 103,920 เที่ยวคนต่อวัน รถไฟความเร็วสูง 65,630 เที่ยวคนต่อวัน ส่วนค่าโดยสารจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภาอยู่ที่ 500 บาท/เที่ยว จากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภาอยู่ที่ 300 บาท/เที่ยว”

ทั้งนี้รถไฟความเร็วสูงที่ไร้รอยต่อจะใช้โครงสร้างและแนวการเดินรถเดิมของแอร์พอร์ตลิงก์ในปัจจุบัน จะสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร มีส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จากสถานีพญาไท-สนามบินดอนเมือง และสถานีลาดกระบัง-สนามบินอู่ตะเภา และ จ.ระยอง โดยใช้เขตทางรถไฟรวมระยะทาง 260 กม. โดยมีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งระบบรถที่วิ่งในพื้นที่ชั้นในมีความเร็ว 160 กม./ชม. และ 250 กม./ชม.ในเขตนอกเมือง

จับตาบิ๊กธุรกิจปาดเค้ก

รายงานข่าวแจ้งว่า จากโครงการนี้คาดว่าจะได้รับความสนใจจากบริษัทใหญ่ในประเทศไทยและต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ จีน บริษัท JR Kyushu ผู้ดำเนินธุรกิจรถไฟอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.), บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC), บมจ.ระบบทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), เซ็นทรัล, เดอะมอลล์, ทีซีซีแลนด์, สิงห์ เอสเตท, สยามพิวรรธน์

แหล่งข่าวจาก บจ.เจริญโภคภัณฑ์ วิศวกรรม ธุรกิจในเครือ ซี.พี. กล่าวว่า สนใจลงทุน ขณะนี้กำลังศึกษาข้อมูลและรอดูความชัดเจนของทีโออาร์ภาครัฐ โดยร่วมพันธมิตรกับจีน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. BTSC ก็ให้ความสนใจร่วมลงทุนเช่นกัน ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR (บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ-ราชบุรีโฮลดิ้งส์) “ผมขอดูเงื่อนไขและรายละเอียดในทีโออาร์ก่อน เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง”

และก่อนหน้านี้นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะเข้าร่วมประมูลเช่นกัน โดยร่วมลงทุนกับประเทศจีน

เปิดช่องต่างด้าวลุยรถไฟฟ้า

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. เปิดเผยว่า กฎหมายอีอีซีเป็นกฎหมายอำนวยความสะดวกไม่ว่านักลงทุนไทยหรือต่างด้าว โดยส่งเสริมประกอบธุรกิจและลงทุนในพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับผู้ลงทุน

นอกจากนี้ ยังจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ต่อเนื่อง รวมถึงพื้นที่นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น สถานีรถไฟฟ้ามักกะสันที่มีโครงข่ายเชื่อมอีอีซี บริษัทเอกชนที่มาลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย

“ส่วนการลงทุนเรื่องรถไฟความเร็วสูง บริษัทของไทยจะต้องจดทะเบียนในเมืองไทย หรือแม้เป็นบริษัทต่างด้าวก็ได้รับสิทธิพิเศษเต็มที่ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำหนดออกมาภายหลังกฎหมายอีอีซีประกาศใช้” นายวรพลกล่าว

ประเคนสิทธิผู้ร่วมลงทุน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (คนพ.) ล่าสุด ได้มีข้อเสนอหลักการของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “เห็นชอบ” รูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ระยะเวลาโครงการ 50 ปี (รวมระยะเวลาก่อสร้าง) โดยจะเป็นการร่วมลงทุนแบบสัมปทาน 50 ปี ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จ่ายค่าเช่าให้ ร.ฟ.ท. 61% ของมูลค่าที่ดิน เริ่มโครงการในเดือนกันยายน 2561 เสร็จสิ้นโครงการเดือนสิงหาคม 2611

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ ส่วน Airport Rail Link ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ กับส่วนที่จะต้องก่อสร้างเพิ่มเติม ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงจากสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา กับพญาไท-ดอนเมือง ทำให้โครงการมีลักษณะระยะเวลาดำเนินการที่ทับซ้อน จึงมีการกำหนดตารางเวลาการดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง-การปรับปรุงสถานี และ Rial Run ระยะเวลา 5 ปี 2 เดือน (กันยายน 2561-ตุลาคม 2566) และยังมีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ที่จะต้องดำเนินการโดยผู้ลงทุนที่มักกะสัน กับบริเวณสถานีศรีราชา ระยะเวลา 5 ปี 2 เดือน (กันยายน 2561-ตุลาคม 2566) อีกด้วย

สำหรับสิทธิของผู้ลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สถานี จะประกอบไปด้วย 1) สิทธิในการใช้สถานีกลางบางซื่อ ผู้ร่วมทุนจะสามารถใช้พื้นที่สถานีกลางในการจอดรับผู้โดยสารและดำเนินการเชิงพาณิชย์ อาทิ การขายตั๋วรถไฟ, การให้บริการเสริมบนขบวนรถ และพื้นที่บนสถานีที่ ร.ฟ.ท.กำหนดส่งมอบให้ 2) สิทธิในการใช้สนามบินสุวรรณภูมิ สามารถใช้พื้นที่ในการจอดรับ-ส่งผู้โดยสารตามเงื่อนไขที่จะต้องระบุไว้ในสัญญาระหว่างผู้ร่วมทุน กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

3) สิทธิในการใช้สนามบินอู่ตะเภา จะใช้จอดรับ-ส่งผู้โดยสาร แต่ให้เป็นไปตามสัญญาระหว่างผู้ร่วมทุน กับกองทัพเรือไทย 4) สิทธิในการใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมและสิทธิการให้บริการเดินรถไฟภายในเมือง City Line ของโครงการ Air-port Rail Link โดยผู้ร่วมลงทุนไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสิทธิดำเนินการให้บริการเดินรถไฟ Airport Rail Link 5) สิทธิในการใช้โครงสร้างพื้นฐานส่วนก่อสร้างเพิ่มเติมจากสถานีพญาไท-ดอนเมือง และสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และมีสิทธิดำเนินการให้บริการเดินรถไฟบนโครงสร้างนี้

6) สิทธิในการใช้ที่ดินมักกะสันเชิงพาณิชย์ ผู้ร่วมทุนจะสามารถใช้พื้นที่บนที่ดินมักกะสันเพื่อดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งสิทธิในการเข้า-ออกพื้นที่ตามสัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างผู้ร่วมทุน กับ ร.ฟ.ท.ที่จะต้องดำเนินการต่อไป 7) สิทธิการใช้ที่ดินรอบสถานีรถไฟศรีราชาเชิงพาณิชย์ รวมทั้งสิทธิในการเข้า-ออกพื้นที่ 8) สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ GSM-R สำหรับระบบอาณัติสัญญาณ ETC Level 2 โดย ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้จัดเตรียมสัญญาณและแบบสิทธิให้ผู้ร่วมทุน หากมีค่าใช้จ่ายตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกเก็บให้ผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น

และ 9) สิทธิการพัฒนาเชิงพาณิชย์บนสถานีรถไฟ ผู้ร่วมทุนจะสามารถใช้พื้นที่บนสถานีรถไฟเพื่อดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สถานีรถไฟที่ใช้ร่วมกับโครงการอื่น ๆ ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ-สถานีดอนเมือง-สถานีสุวรรณภูมิ และสถานีอู่ตะเภา การใช้สิทธิพัฒนาเชิงพาณิชย์บนสถานีจะต้องอยู่ในขอบเขตที่ ร.ฟ.ท.กำหนด กับสถานีที่ใช้เฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ผู้ร่วมทุนจะได้รับสิทธิการพัฒนาเชิงพาณิชย์บนสถานีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

เงินสนับสนุนจากรัฐ

สำหรับการสนับสนุนทางด้านการเงินในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะประกอบไปด้วย 1) ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสู่ ร.ฟ.ท. ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเวนคืนที่ดิน เป็นจำนวน 3,639 ล้านบาท กับการโอนหนี้สินของ ร.ฟ.ท. คิดเป็นจำนวนเงิน 33,229 ล้านบาท กับ 2) เงินสนับสนุนภาคเอกชน (ผู้ร่วมลงทุน) ได้แก่ เงินสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วงก่อสร้างในระยะเวลาก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 113,303 ล้านบาท, เงินสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเผื่อโครงการอื่น 7,210 ล้านบาท และเงินสนับสนุนรายปีเป็นระยะเวลา 10 ปี ในช่วงดำเนินงานอีก 21,184 ล้านบาท

โดยเงินสนับสนุนเหล่านี้จะต้องไม่เกินมูลค่าโครงสร้างพื้นฐาน 120,514 ล้านบาท ตามเพดานสูงสุดที่รัฐบาลกำหนดไว้