สภาวิศวกรเผยผลเจรจารถไฟไทยจีนครั้งที่ 23 คืบหน้าด้านถ่ายโอนเทคโนโลยี เตรียมอบรมวิศวกรไทย

อัปเดตล่าสุด 14 ก.พ. 2561
  • Share :
  • 755 Reads   

ศ.ดร. อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกรเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเจรจาโครงการรถไฟความเร็วสูงว่า สภาวิศวกร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นองค์ประกอบคณะผู้แทนคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 7-9 ก.พ. ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณประชาชนจีน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนเทคโนโลยี สภาวิศวกร และผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกันเจรจากับจีน จนเกิดความคืบหน้าการถ่ายโอนเทคโนโลยี ใน 4 ด้าน คือ 1. หลักสูตรฝึกอบรมวิศวกรไทยด้านเทคโนโลยีการออกแบบรถไฟความเร็วสูง 2. การจัดตั้งองค์กรเพื่อรับผิดชอบการบริหารการเดินรถ 3. การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง และ 4. การส่งเสริมขีดความสามารถการทดสอบ การก่อสร้าง การติดตั้ง การตรวจสอบและการซ่อมบำรุงโครงการรถไฟความเร็วสูง

ศ.ดร. อมร พิมานมาศ เปิดเผยต่อว่า สภาวิศวกรรับผิดชอบหลักในเรื่องหลักสูตรฝึกอบรมวิศวกรไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมวิศวกรไทย ให้สามารถออกแบบงานโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธาได้เองในโครงการระยะที่ 2 ช่วงโคราช-หนองคาย จึงจำเป็นต้องจัดหลักสูตรอบรมให้แก่วิศวกรไทย ซึ่งทางผู้แทนไทยได้ร่วมเจรจากับจีนจนได้ข้อสรุปการถ่ายโอนเทคโนโลยีด้านโยธาทั้งสิ้น 11 ด้าน ได้แก่ การกำหนดแนวเส้นทาง สถานี สะพาน ชั้นดินคันทาง อุโมงค์ การระบายน้ำ งานระบบวิศวกรรม งานสำรวจและการทำแผนที่ ธรณีวิทยาและวิศวกรรมปฐพี ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการป้องกัน และสถาปัตยกรรม

ศ. ดร. อมร พิมานมาศ กล่าวต่อว่า วิศวกรไทยมีความสามารถด้านงานวิศวกรรมโยธาอยู่แล้วและมีความพร้อมที่จะเป็นผู้ออกแบบเองได้ในโครงการระยะที่ 2 และโครงการอื่น ๆ สำหรับหลักสูตรที่จะจัดขึ้นนี้ จะช่วยเสริมความมั่นใจในการออกแบบพื้นฐานด้านงานโยธา โดยจะเน้นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งอาจมีข้อกำหนดพิเศษกว่ารถไฟทั่วไป ส่วนการถ่ายโอนเทคโนโลยีด้านอื่นที่เราต้องการมาก คือเทคโนโลนีด้านการออกแบบงานระบบรางและการจ่ายไฟเหนือขบวนรถ ตลอดจนระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งจากการประชุมในครั้งนี้ได้ข้อสรุป ว่าจะนำไปบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา 2.3 ต่อไป

สำหรับในขั้นตอนต่อไป ทางจีนจะจัดทำแผนการอบรม ระยะเวลาที่ใช้ และงบประมาณในแต่ละหลักสูตร ส่งให้ทางไทยพิจารณาภายในวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งไทยจะต้องคัดเลือกวิศวกรไทยเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าวภาย สำหรับสถานที่อบรม ทางไทยเสนอว่า หลักสูตรบางส่วนอาจจัดขึ้นในประเทศไทยได้ เพื่อประหยัดงบประมาณ และเปิดโอกาสให้วิศวกรไทยได้เข้าร่วมมากขึ้น โดยขอให้จีนส่งผู้เชี่ยวชาญมาสอนที่ประเทศไทย แต่อาจมีบางหลักสูตรที่จำเป็นต้องไปอบรมที่ประเทศจีน ก็จะพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป คาดว่าการอบรมวิศวกรไทยน่าจะเริ่มได้ภายในกลางปี 2561