จากนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

อัปเดตล่าสุด 8 ก.พ. 2561
  • Share :

แนวคิดการพัฒนา "เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" มาจากหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมจากการลดการใช้วัตถุดิบใหม่ ลดการปล่อยของเสียและมลพิษ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันจากการลดต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน ต้นทุนการขนส่ง การจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรและเพิ่มศักยภาพทางการตลาด และประโยชน์ทางสังคม ทำให้เกิดประโยชน์ร่วมระหว่างชุมชนในพื้นที่กับนิคมอุตสาหกรรมนั้น ๆ บรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและลดความขัดแย้ง ส่งผลสำคัญให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่เกิดขึ้นได้

การนิคมอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ ได้ริเริ่มโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตั้งแต่ปี 2553 มีเป้าหมายพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งให้เกิดความมั่นใจต่อนักลงทุน สร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีของคนในชุมชนที่อาศัยใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรม โดยได้พัฒนาตัวชี้วัดเพื่อสะท้อนถึงระดับการพัฒนาความเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดเหล่านี้ยังไม่สามารถทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ซึ่งการมีส่วนร่วมที่แท้จริงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเกิดขึ้นได้ ดังในประเทศที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ญี่ปุ่น และเยอรมนี เป็นต้น

นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งเมื่อปี 2526 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 เป็นตัวอย่างนิคมที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และได้ประกาศเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างสมบูรณ์ โดยได้ระดับ Eco-Champion ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม นิคมยังประสบปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

จากการวิเคราะห์ผ่าน Eco-Efficiency Portfolio แสดงให้เห็นถึงทิศทางในเชิงลบจากการปรับตัวลดลงของการเติบโตในมิติเชิงเศรษฐกิจ ในขณะที่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอยู่ในเชิงบวกจากการลดลงของการใช้ทรัพยากรและการลดลงของปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรม ดังนั้น การประเมินความเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอาจต้องมีการติดตามตรวจสอบผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ตัวชี้วัดเฉพาะเชิงนิเวศที่พิจารณาผ่านเอกสารเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเชื่อถือและเกิดพลังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุขและยั่งยืน ตามหลักการแนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การเสริมสร้างศักยภาพองค์กรและการมีกิจกรรมเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรม จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการในพื้นที่นิคม

นอกจากนี้แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็มีส่วนสำคัญในการทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะแค่กระบวนการต่อใบอนุญาตโรงงานในพื้นที่เท่านั้น แต่ต้องเข้าตรวจสอบในสถานที่จริง ส่วนระบบการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม เป็นเพียงระบบที่เกิดจากงานที่ทางเทศบาลต้องทำเป็นประจำ (การตรวจสอบโรงงานตามแผนประจำปี และการต่อใบอนุญาต) และระบบที่เกิดกรณีฉุกเฉินจากการร้องเรียน

งานวิจัยพบปัญหาและอุปสรรคการทำงานของ อปท.ที่สำคัญ ได้แก่ บุคลากรมีจำนวนไม่เพียงพอ ขาดความรู้และความชำนาญ งบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ไม่เพียงพอ

ตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นพบว่า อปท.มีศักยภาพในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้ เนื่องจากมีการดำเนินงานที่หลากหลาย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีการจัดสรรบุคลากรที่เพียงพอและมีการอบรมเฉพาะเรื่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างยั่งยืน

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ ต่อการเกิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างแท้จริง คือ การจัดตั้งคณะกรรมการ 3 ภาคี โดยที่ภาครัฐควรกำหนดนโยบายพัฒนาศักยภาพองค์กรและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน สนับสนุนให้ชุมชนมีสิทธิและแสดงบทบาทของภาคประชาสังคมในกระบวนการสาธารณะ การจัดให้มีบุคลากรเพียงพอและมีองค์ความรู้ให้กับ อปท.

ชุมชนควรรวมตัวกันเป็นเครือข่ายระบาดวิทยาภาคประชาชน และจัดการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโดยตนเองอย่างต่อเนื่อง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ควรสนับสนุนชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ดำเนินกิจกรรมการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโดยการรวมตัว โรงงานควรทำคู่มือสำหรับชุมชนเพื่อเฝ้าระวังสิ่งคุกคามจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบบ้าน ประเภทของโรงงาน รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินงานในพื้นที่ศึกษารอบนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า แนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีศักยภาพและความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรม และมีแนวทางสามารถถ่ายทอดกระบวนการนี้ไปสู่พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ นำไปพัฒนาและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทได้ ที่สำคัญ ยังมีประเด็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีความหมาย และเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน