"จินป่าว" ทุ่ม 2 พันล. เปิดรง.ใหม่ผลิตชิ้นส่วนป้อนแอร์บัส-โบอิ้ง

อัปเดตล่าสุด 4 ก.พ. 2561
  • Share :
  • 857 Reads   

จินป่าวทุ่ม 2,000 ล้านผุด "โรงงานผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน-เครื่องมือแพทย์" เพิ่ม ในนิคมเหมราชรับสิทธิ์ EEC

นายวิคเตอร์ จง กรรมการผู้จัดการ บริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แม่พิมพ์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมขึ้นรูป แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (ORM) จากประเทศไต้หวัน กล่าวว่า ในปี 2561 บริษัทเตรียมตั้งโรงงานแห่งใหม่บนพื้นที่ 54 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จ.ชลบุรี ใช้เงินลงทุน 2,000 ล้านบาท เพื่อเปิดสายการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมอากาศยาน และอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต เนื่องจากไทยกำลังจะเป็นศูนย์กลางทางด้านการบิน มีศูนย์ซ่อมอากาศยาน และจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของอาเซียน ตามแผนโรงงานจะเริ่มผลิตได้ปี 2563

สายการผลิตใหม่ถือเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน เมื่อลงนามสัญญาซื้อขายที่ดินกับทางบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA แล้ว บริษัทเตรียมยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงถึง 8 ปี บวกกับสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษี 50% อีก5 ปี เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

"การที่เรามีคู่ค้าอย่างแอร์บัสและโบอิ้งไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเราผลิตส่งให้รายใหญ่ได้แล้ว ต้องเพิ่มการผลิตให้ตรงกับสิ่งที่เขาต้องการ โดยเฉพาะชิ้นส่วนมูลค่าสูง (hight produce) เราต้องขยายการผลิตเพื่อให้สัดส่วนอุตสาหกรรมอากาศยานเพิ่มขึ้นจากเดิมมีเพียง 20%"

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลไทยกำหนดนโยบาย S-curve ขึ้นมา บวกกับที่บริษัทได้รับสิทธิหลายอย่าง และการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ตัดสินใจลงทุนง่ายขึ้น แม้บริษัทจะมีแผนลงทุนอยู่ก่อนแล้ว ด้วยโอกาสในไทยมีศักยภาพดีกว่าประเทศอื่นในการตั้งเป็นฐานการผลิตขณะที่ยอดรายได้รวมปี 2560 ทุกอุตสาหกรรมของบริษัทอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท ขยายตัวขึ้น 9% และปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโต 5-10% โดยจะส่งออก 40% และขายในประเทศ 60% สำหรับสัดส่วนรายได้หลักมาจากการผลิตชิ้นส่วนเทเลคอม อิเล็กทรอนิกส์ 35% เครื่องมือแพทย์ เครื่องทดสอบอาหาร 45% และชิ้นส่วนอากาศยาน 20%

ในส่วนของโรงงานเก่า ใช้เงิน100 ล้านบาท ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงาน โดยเฉพาะในประเภทชิ้นงานที่ต้องผลิตมาก ๆ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเทเลคอม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าก่อนหน้านี้บริษัทมีแผนจะลดพนักงาน 300 คน เพื่อให้สวัสดิการและผลตอบแทนดีที่สุดกับพนักงานที่เหลืออยู่ แต่ปีที่ผ่านมาพบว่ารายได้และแนวโน้มการเติบโตดีกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพียง 5% จึงเปลี่ยนนโยบายการลดพนักงานและปรับการผลิตให้ตรงกับเป้าหมายของบริษัท ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน ปีนี้จึงยังไม่เพิ่มจำนวนพนักงานใหม่ แต่สำหรับการจ้างงานในโรงงานใหม่จะเริ่มในปี 2563 ต้องมีการจ้างงานเพิ่ม แต่คงไม่มากเพราะมีแผนจะใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาทำงานเกือบทั้งหมดในกระบวนการผลิต