อุตฯชงบิ๊กตู่5เป้าหมายดันอีอีซี BOIปรับยอดขานรับลงทุนทะลุ2.5แสนล.
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ก.พ. 2561 ทาง กรศ.เตรียมเสนอ 4 เรื่องหลัก คือ 1.เรื่อง 18 พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และ 1 นิคมอุตสาหกรรมสำหรับนักลงทุนจีน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 26,461 ไร่ ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเพี่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve)ซึ่งได้สิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี หลังสิ้นสุดเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องเป็น 10 S-curve ร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศ ฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสัดส่วน 10% ของจำนวนพนักงาน หรือขั้นต่ำ 50 คน เวลา 1 ปี
เพื่อกระตุ้นให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งหมดนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 - 30 ธันวาคม 2562
2.เป้าหมายยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ปี 2561 ตั้งเป้าไว้ 250,000 ล้านบาท จากปี 2560 ตั้งเป้าไว้ที่ 200,000 ล้านบาท และพบว่ามียอดขอรับการลงทุนสูงถึง 300,000 ล้านบาท 3.เป้าหมายการลงทุน 5 ปี (2560-2564) ที่มีการปรับตัวเลขการลงทุนจาก 500,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสูงกว่า 600,000 ล้านบาท 4.แผนพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 3 จังหวัด ที่ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มถึง 3 เท่าตัว เป็น 60 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 20 ล้านบาท สัดส่วนเป็นนักลงทุนไทยและต่างชาติ 50:50
นอกจากนี้ กรศ.อยู่ระหว่างวางแผน ดึงเอกชนรายใหญ่ของไทยมาเป็นกลไกในการชักจูงนักลงทุนที่ตรงกับอุตสาหกรรมและสามารถเป็นซัพพลายเชนให้กับเอกชนไทยได้ ล่าสุดได้หารือกับ ปตท. และเครือ SCG เป็นตัวหลักไกด์ให้นักลงทุนลงสำรวจพื้นที่ หรือแชร์ข้อมูล หรือสามารถร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ หรือร่วมลงทุนกันได้ในอนาคต ซึ่งหลังแนวทางเสร็จจะเสนอ กนศ. ในวาระประชุมครั้งถัดไป
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนา EEC ว่า ตอนนี้ภาครัฐเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วรวมถึง internet ความเร็วสูงที่วางโครงข่ายครอบคลุมทุกหมู่บ้านจะเป็นจุดเริ่มต้นให้อุตสาหกรรมดิจิทัล และขยายผลไปสู่ SMEs สามารถใช้โครงข่ายเหล่านี้ทำธุรกิจได้ ขณะเดียวกันต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม จึงประกาศให้พื้นที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง 1,000 ไร่ ตั้งเป็นเขตนวัตกรรม EECi พัฒนาและบริหารโครงการโดย ปตท.EECi ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษที่ได้สิทธิบีโอไอ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติตามประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมาย (สูงสุดไม่เกิน 13 ปี)ลดหย่อน 50% เวลา 5 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ตรงกับพื้นที่ คืออุตสาหกรรมอากาศยาน ดิจิทัล งานด้านการวิจัย และร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สัดส่วน 10% ของจำนวนพนักงาน หรือขั้นต่ำ 50 คน เวลา 1 ปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561-30 ธันวาคม 2562
"สิ่งที่รัฐทำไว้มีความจำเป็นต่อการพัฒนาทั้งหมด ได้รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่อย่าง รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เดิมมีการเติบโตอยู่แล้ว และปีนี้จะได้เห็นการขยายการลงทุนกลุ่มเหล่านี้เพิ่ม รวมถึงเกิดอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบิน และไบโอชีวภาพตามมา"
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือWHA เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทยื่น9 นิคมอุตสาหกรรม รวมพื้นที่กว่า 40,000 ไร่ ในพื้นที่ EEC นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจที่จะซื้อพื้นที่ในนิคมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อากาศยาน และหุ่นยนต์ เนื่องจาก WHA ได้เป็นเขตส่งเสริมเพี่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ปีนี้จึงตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1,250 ไร่ ขณะเดียวกันเตรียมเม็ดเงินลงทุนปีนี้ไว้ 7,000 ล้านบาทจะใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจนิคมประมาณ 2,000 ล้านบาท
"เราไม่กังวลเรื่องกฎหมาย EEC หากจะช้าบ้างเล็กน้อย เพราะนักลงทุนเห็นโอกาสที่จะลงทุนอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยขอให้ประกาศใช้จริงก่อนเลือกตั้งก็พอ หากย้อนดูตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเวียดนาม FDI ทะลุ 10,000 ล้านเหรียญ สะท้อนให้เห็นว่าถ้าไทยไม่พัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ทำ EEC เราจะเป็นแค่ทางผ่าน เพราะมันคือการเชื่อมโยง one belt one road (OBOR) ที่จะเชื่อมการค้าได้ทั้งภูมิภาค"
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายในปีนี้พื้นที่ EECi จะเริ่มได้เห็นกิจกรรมต่าง ๆ เช่น STI Solution for Industries ร่วมกับผู้ประกอบการ 100 ราย รวมถึงเห็นโครงการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเป็นรูปธรรม เช่น การใช้โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เป็นตัวร่วมพัฒนา ถ่ายทอดนวัตกรรมให้กับ 6 อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น
นายสเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย หรือ BMW กล่าวว่า บริษัทจะขยายการลงทุนในส่วนของการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในประเภทปลั๊ก-อิน ไฮบริดไปแล้วที่ จ.ระยอง และมีแผนการลงทุนในส่วนอื่นเพิ่มเติม เช่น สำนักงานใหญ่ (headquarters) ที่ไทยอีก 1 แห่ง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ประเทศสิงคโปร์