พร้อมเดินหน้าพัฒนา ‘Robotics and Automation’ ในไทย คาดปี 2569 สามารถผลิตหุ่นยนต์ส่งออกได้

อัปเดตล่าสุด 24 ม.ค. 2561
  • Share :

สำหรับมาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีเป้าหมาย หรือ Road Map 3 ระยะ (สั้น-กลาง-ยาว)

 

เป้าหมายระยะสั้น 1 ปี (ปี 2560) : Automation Buyers

- กระตุ้นตลาดหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในประเทศ มีการลงทุนไปกว่า 1,200 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการ นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้สำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

- เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากกว่า 50% ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ดังนี้

  • BOI ในเรื่องการงดเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% สำหรับกิจการที่นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้
  • กระทรวงการคลัง ในเรื่องงดเว้นภาษีเงินได้ 300% เพื่อการวิจัยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
  • สำนักงบประมาณ ในเรื่องการจัดซื้อหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อให้บริการแก่ประชาชน
  • กระทรวงอุตสาหกรรม ในเรื่องการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต โดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติผ่านกองทุนเอสเอ็มอีและกองทุนอื่น ๆ

 

เป้าหมายระยะกลาง 5 ปี (ปี 2564) : Automation Service Provider (System Integrator: SI)

- สนับสนุนให้ผู้ผลิตภายในประเทศมีต้นทุนที่ต่ำลงโดยลดการนำเข้าและเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดยเฉพาะ SI ผู้ทำหน้าที่ออกแบบระบบอัตโนมัติที่ตั้งเป้าเพิ่มจำนวน SI จาก 200 เป็น 1,400 ราย ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ดังนี้

  • BOI ในเรื่องการส่งเสริม SI และให้สิทธิประโยชน์การลุงทุนในระดับสูงสุด
  • กระทรวงการคลัง ในเรื่องยกเว้นการนำเข้าชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่จะนำมาผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อแก้ไขเรื่องภาษีเหลื่อมล้ำ

- ไทยสามารถผลิตหุ่นยนต์ที่มีระบบซับซ้อนได้เองและจะนำมาซึ่งผลกำไรมหาศาล

 

เป้าหมายระยะยาว 10 ปี (ปี 2569) : Center of Robotic Excellence (CoRE)

- เป็นเจ้าของเทคโนโลยี และเป็นผู้ส่งออกหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

- มีเครือข่ายการร่วมมือและหน่วยงานนำร่องทั้งในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่นและหน่วยงานชั้นนำจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 ตัว และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการอีกกว่า 200 ราย พร้อมฝึกอบรมบุคลากรไม่น้อยกว่า 25,000 คน

- มอบหมายให้ CoRE เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาบุคลากร และยกระดับแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้น (Retain/Reskill) เพื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ. หรือ EEC) ได้สั่งการให้การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดหาพื้นที่ที่บริหารสำหรับรองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง) และหารือกับเอกชน (กลุ่มบริษัทอมตะ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครและนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ และกลุ่ม WHA ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราช) เพื่อจัดหาพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ สำหรับเป็นโมเดลตัวอย่างรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ สำหรับพื้นที่แสดงตัวอย่างโมเดลจะกลายเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษ และอาจเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในอนาคต โดยจะมีรถไฟเชื่อมระหว่างนิคมอุตสาหกรรมและอาจประกาศเป็น Free Trend Zone เพื่อดึงดูดนักลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และหากนิคมอุตสาหกรรมใน EEC ยังเหลือพื้นที่ก็อาจจะมีการจัดตั้ง “ศูนย์ซ่อมแซมหุ่นยนต์” ในอนาคตก็เป็นได้

สำหรับพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ที่เป็นพื้นที่ในการรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S – Curve) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอากาศยาน และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดยพื้นที่ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายไว้เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และพัฒนากลุ่มโลจิสติกส์ที่ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการดำเนินงาน

มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมไทยเป็นวงกว้าง สำหรับวิสาหกิจและเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องความริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการที่ต้องการผลักดันการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ธุรกิจ พร้อมนำงานวิจัยจากกระทรวงวิทย์ฯ มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดเพื่อที่จะได้มีพื้นที่ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น หรือแม้แต่ผู้ผลิตกิจการขนาดเล็กที่มีความสามารถในการออกแบบและบูรณาการเทคโนโลยีที่มีจำนวนน้อยอาจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นด้วย รวมไปถึงเครือธุรกิจขนาดเล็กที่มีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้นจากการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติซึ่งสามารถลดปัญหาการขาดแคลนแรงานในอนาคตได้อีกด้วย

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่นอกจากจะสร้างการผลิตและใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้แล้ว ยังมีเรื่องการซื้อขายเทคโนโลยีจากบรรดานักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเหลือในอุตสาหกรรม เพื่อให้สินค้าสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ทั้งในเรื่องคุณภาพและราคา ทั้งนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่มีความยืดหยุ่นสูง จึงสามารถช่วยในการผลิตสินค้าให้อยู่ในมาตรฐานที่สูงด้วยความสม่ำเสมอได้

ไม่ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายหรือไม่ แต่มาตรการดังกล่าวนี้สามารถกระตุ้นตลาดหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เกิดความตื่นตัวได้อย่างแน่นอน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เติบโตยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งเรื่องต้นทุน องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดด้วย