กระทรวงอุตฯ ยัน โครงการ Lean Automation System Integrator (LASIs) หนุนหลัง SMEs แน่นอน

อัปเดตล่าสุด 23 ม.ค. 2561
  • Share :
  • 720 Reads   

หลังพิธีลงนาม MOU ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริษัทเด็นโซ่ คอร์เปอเรชั่น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายแขนงในมุมมองอนาคตของอุตสาหกรรมไทยต่อจากนี้หลังจากนำระบบอัตโนมัติ หรือ Automation เข้ามาใช้งาน ภายใต้นโยบาย ประเทศไทย 4.0


(นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม)

Q: คาดว่าจะเริ่มเห็น SMEs สนใจเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อมาใช้ระบบ Automation ไหม

A: “จริง ๆ เราก็เริ่มดำเนินการแล้ว มีการเปลี่ยนไปใช้แล้วพอสมควร แต่สำหรับโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน ก็คงจะมีการเปลี่ยนอะไรหลาย ๆ อย่างในช่วงนั้น แต่ในช่วงนี้เราก็มีการอบรมเรื่องการใช้ Automation แล้วก็มีโครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมไทยโดยการใช้ Automation เบื้องต้น”

Q: นอกจาก DENSO และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีบริษัทอื่นที่ให้ความร่วมมือในลักษณะนี้ด้วยหรือไม่

A: “คงไม่มีในลักษณะนี้อีกนะครับ ในกรณีของโครงการ Big Brother เราคิดว่าปีแรกจะมีบริษัท 50 บริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาช่วยพัฒนา SMEs ไทยมากขึ้นเพื่อที่จะทราบว่าการเข้าไปอยู่ใน Global Value Chain นั้นจะต้องมีลักษณะอย่างไร เครื่องจักรและอุปกรณ์ควรจะเป็นอย่างไร ความรู้ ความสามารถอะไรที่ต้องการบ้าง Big Brother ใหญ่ ๆ ถ้าเป็นสายทางด้านยานยนต์ก็จะเป็นบริษัทที่เราคุ้นชื่อกันดี Toyota Honda MG Nissan ต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะ MG ล่าสุดที่เข้ามาช่วยดูเรื่อง Supply Chain สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ของรถยนต์ไฟฟ้ามีอะไรบ้าง SMEs ไทยต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์ก็จะมี Toyota บริษัทไทยก็จะมี ปตท. SCG และยังมี CP All ที่เข้ามาเกี่ยวกับเรื่องการบริการการขาย ซึ่งทำร่วมกับสภาหอการค้าไทย”

Q: อัตราการใช้ Automation ในบริษัทใหญ่ที่มาใช้แทนแรงงานคนเพิ่มขึ้นสักกี่เปอร์เซ็นต์หลังจากออกตัวแล้ว

A: “มันค่อย ๆ พัฒนานะครับ อย่างที่ผมเรียนไป ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่ระบบ Automation จะต้องเข้าใจคำว่าระบบ Lean ให้ได้ก่อน สร้างความตระหนักเรื่อง Automation ให้ได้ก่อน ขออนุญาตเรียนนะครับ ไทยแลนด์ 4.0 คือโครงการเหมือน Industry 4.0 ครับ เป็น 20 ปีของเยอรมนีที่เข้าสู่ยุค 4.0 แต่ยังไม่มีโรงงานไหนที่เป็น Industry 4.0 เพอร์เฟกต์สมบูรณ์แบบตามความต้องการ แต่ค่อย ๆ เดินทีละสเต็ป ตอนนี้ประเทศไทยก็กำลังเริ่มต้นแล้ว และทุกโรงงานที่มีความจำเป็นและความพร้อมในเทคโนโลยีนี้ก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงแบบค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปเพื่อตอบโจทย์ตลาดอุตสาหกรรม

สิ่งแรกสำหรับ SMEs เนี่ยคือสร้างความตระหนักให้ได้ เรื่อง Lean Automation ว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างไร ต้องเข้าใจเรื่องระบบเหล่านี้ให้ดีเสียก่อน ทางเราเองก็มีหน่วยงานที่สนับสนุน แต่ถามว่าจะเปลี่ยนไปขนาดไหน ตอนนี้ก็เริ่มไปทีละนิด อาจจะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอย่างช้า ๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงงาน หลายโรงงานก็ปรับเปลี่ยนแล้วนะครับ อย่างโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง”

Q: คิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ

A: “ถ้ามองผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ ผมเห็นว่าโรงงานส่วนใหญ่ให้ค่าจ้างเขาเกินค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำไปนานแล้วนะ ในบางแห่งมีการโยกย้ายแรงงานค่อนข้างเยอะซึ่งแต่ละโรงงานก็พยายามสร้าง Intensive โดยดึงคนเก่งหรือคนที่มีประสบการณ์เข้ามา ทำให้ค่าแรงที่ได้รับก็จะเพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้ที่รัฐบาลพยายามเร่งทำคือการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มากที่สุด ซึ่งทางเราก็ได้ทำในบางอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว มีการจ่ายค่าแรงตามฝีมือของแรงงาน บางคนได้ค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำถึง 50% ส่วนตัวคิดว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะสะท้อนสองอย่าง อย่างแรกคือจำนวนอุปสงค์และอุปทานของแรงงานว่ามีมากน้อยเพียงใด ขาดแคลนมากน้อยเพียงใด ส่วนอย่างที่สองก็คือเรื่องของฝีมือหรือขีดความสามารถ เพราะเชื่อว่าแรงงานใหม่ ๆ ที่จะเข้าสู่ระบบทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ก็คิดว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้จะทำให้เขาเข้าสู่ระบบของการจ้างงานมากขึ้นและเข้าไปสู่ในระบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ระกอบการมากขึ้น”

Q: เรื่อง Automation จะมีผลต่อการใช้แรงงานไหม

A: “ผมคิดว่าไม่น่ามี ในอดีตที่ผ่านมาเราก็เห็นพัฒนาการของการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตมาโดยตลอด แล้วมันก็มีเรื่องการขาดแคลนแรงงานมาโดยตลอดด้วย ผมเชื่อว่าฝีไม้ลายมือของแรงงานจะมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ในอนาคตถามว่าเรื่องเครื่องจักรและอุปกรณ์จะเป็นเช่นไร แรงงานนั้นทราบดี เรากำลังต่อสู้กับสิ่งที่เราไม่รู้ว่าคืออะไรในอนาคต แรงงานในตอนนี้มีการปรับตัวที่ค่อนข้างไวในเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผมคิดว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ค่อยห่วงเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่เราก็พยายามที่จะใส่ในเรื่องความสามารถของแรงงานให้มากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นที่พอใจของนายจ้าง”

Q: ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อผู้ประกอบการในการหันมาใช้ระบบ Automation เพิ่มมากขึ้นไหม

A: “ผมเชื่อว่าค่าจ้างแรงงานมีผลต่อการผลักดันในเรื่องการใช้ Automation ไม่มากหรอก แต่ผมคิดว่าเรื่องการขาดแคลนแรงงานจะมีปัญหามากกว่าเยอะ อีกเรื่องคือผลประโยชน์ทางธุรกิจของเขาเอง หนึ่งในเรื่องของความรวดเร็ว สองคือความแม่นยำที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเครื่องจักร หุ่นยนต์หรือแขนกลนี้นับว่าความผิดพลาดแทบจะไม่มี ไม่หยุดพัก ไม่มีวันเจ็บป่วย นี่เป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองทางธุรกิจโดยใช้ Automation และลดเรื่องต้นทุนการผลิตเป็นสิ่งสำคัญ ผมคิดว่าแรงงานควรถูกนำไปใช้ในงานที่ต้องใช้ความคิดหรือพวก Soft Touch ต่าง ๆ ที่ต้องใช้คน ผมคิดว่าเรายังจำเป็นต้องพัฒนาแรงงานต่อไป”

 


(นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ (ส.อ.ท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)

Q: ในโครงการ LASIs นี้ญี่ปุ่นได้อะไรบ้าง และตั้งเป้าว่าจะมี SMEs เข้ามาใช้บริการเท่าไร

A: “ถามว่าโครงการนี้้ญี่ปุ่นได้อะไร คือญี่ปุ่นลงทุนกับประเทศไทยมานานกว่า 50 ปีแล้ว พูดตามตรงเนี่ยญี่ปุ่นมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในไทยเหมือนกัน เพราะกว่า 70% ของโรงงานในไทยเป็นของญี่ปุ่น แต่โครงการ LASIs เนี่ยรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินผ่านทางด้าน JETRO แล้วก็ส่งต่อมาที่ DENSO แล้วจึงให้ DENSO ถ่ายทอดเทคโนโลยีในเรื่องของการผลิตให้ ถ้าพูดตรง ๆ เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยและนำเทคโนโลยีเข้ามา ก็ถือเป็นของขวัญให้ประเทศไทย เพื่อให้เข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 จริง ๆ สักที เราทำท่าว่าจะทำนู่นทำนี่แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร

โครงการ LASIs จึงเหมือนตัวจุดประกายโดยมีความร่วมมือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยท่านกอบชัย เราได้ติดต่อพูดคุยมาเป็นเวลา 5 – 6 เดือนแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 4 ที่จะสร้างโมเดลไลน์ให้กับอุตสาหกรรมสัก 3 หรือ 4 บริษัทเพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถนำไปใช้งานได้จริง ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมพียงอย่างเดียว แต่นำไปใช้ได้กับอุตสาหกรรมอื่นก็ได้เพื่อที่เราจะได้ก้าวข้ามขีดจำกัดและไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดย Step by step

เราไม่อาจคิดวันนี้แล้วสำเร็จปีหน้าได้ มันต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะว่าเราต้องพัฒนาคนตาม Road Map ที่เรากำหนดไว้”

Q: งบประมาณที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นให้เรามาลงทุนมีประมาณเท่าไร

A: “ประมาณ 100 ล้านเยน สำหรับปีนี้ครับ ปีหน้าคงต้องคุยกันต่อและทางรัฐบาลไทยอาจจะสนับสนุนเพิ่มเติมถ้าโครงการเหล่านี้สมบูรณ์แบบ”