เปิด 9 มาตรการขับเคลื่อน SME “อุตตม”ผุด3กองทุนใหม่ 8 หมื่นล้านหนุน

อัปเดตล่าสุด 11 ม.ค. 2561
  • Share :
  • 545 Reads   

“อุตตม” เปิดแผนขับเคลื่อน SMEs ปี”61 ส่ง 9 มาตรการ 3 กองทุนใหม่ วงเงินรวมเฉียด 8 หมื่นล้านบาท ยกระดับสู่ 4.0 พร้อมฟอร์มทีมเอกชนรายใหญ่ดันสู่ตลาดโลก

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2561 กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงเป็นหน่วยงานหลักในการทำแผนงานช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับไปสู่ 4.0 ที่มีศักยภาพให้เป็นรูปธรรมให้ได้ ซึ่งจะมีการตั้ง 3 กองทุนใหม่ขึ้นมาช่วยเหลือทางด้านการเงิน วงเงินรวมกว่า 78,000 ล้านบาท และอีก 4 แผนงานใหญ่ ซึ่งมี 9 มาตรการที่เป็นโครงการพัฒนาส่งเสริมควบคู่กันไป

สำหรับมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินที่เตรียมทยอยออกมาใหม่ภายในไตรมาสแรกนี้ ได้แก่

1. สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 50,000 ล้านบาท ดูแลบริหารโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Bank) ซึ่งจะมุ่งเป้าหมายไปยังอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป พัฒนาการท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชน และหมู่บ้านสร้างสรรค์ (CIV)

2. สินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท ดูแลบริหารโดยธนาคารออมสิน เป้าหมายจะเน้นไปยัง SMEs กลุ่มที่เป็น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ใช้เป็นทุนในการปรับเปลี่ยนการผลิตให้มีศักยภาพไปสู่ 4.0

3. โครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างศักยภาพเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก (Micro SMEs) วงเงิน 8,000 ล้านบาท ) ดูแลบริหารโดย SME Bank และกระทรวงอุตสาหกรรม เป้าหมายคือรายที่ประสบปัญหาทางการเงินเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก วงเงินส่วนนี้แบ่งออกจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กองทุน 20,000 ล้านบาท) ที่มีอยู่ปัจจุบัน

ส่วนแผนงานต่าง ๆ กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายยกระดับและสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ผ่านโครงการหมู่บ้านสร้างสรรค์ (CIV) นำร่องแล้ว 9 จังหวัด และขยายเฟส 2 ไปอีก 10 จังหวัด เป็นต้นแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการไปสู่ตลาดประชารัฐ บูรณาการกับทางกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

โดยให้อุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ช่วยสำรวจความต้องการ จุดเด่นแต่ละพื้นที่ตาม 6 กลุ่มจังหวัดให้ครบ รวมถึงขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดต่าง ๆ กว่า 400 บริษัท เข้ามาช่วยแนะนำช่องทางการตลาดให้ เช่น การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ดิจิทัลออกแบบบรรจุภัณฑ์ ขั้นตอนต่อไปจะทำเรื่องตลาดออนไลน์ อาทิ เว็บ Thailand.com ของรัฐ เข้ามาช่วยเป็นช่องทางใหม่ในการค้าขายบนเว็บ

ขณะที่แผนงานด้านบริการ สร้างเครือข่ายศูนย์ส่งเสริมสนับสนุน SMEs 4.0 ใช้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) จะเป็นพื้นที่พิเศษให้ SMEs ใช้อุปกรณ์ ห้องทดลองต่าง ๆ เป้าหมายเพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมให้มีนวัตกรรม เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตอย่างมีศักยภาพไปสู่ตลาดเชิงพาณิชย์และส่งออกได้ให้ SMEs Support Center 270 แห่งของอุตสาหกรรมจังหวัด ทำหน้าที่เชื่อมโยงความช่วยเหลือบริการจากส่วนกลางให้ทั่วถึงทุกภูมิภาค และจะปรับบุคลากรในพื้นที่ ทั้ง สสว. SME Bank การนิคมอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบีโอไอ ฯลฯ ที่เชี่ยวชาญเข้าไปเสริมแต่ละศูนย์

พร้อมทั้งให้สถาบันการศึกษาช่วยสร้างผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษา SMEs (train coach) 2,000 คน ขึ้นมาช่วยแนะนำหรือสอนการผลิตให้ SMEs และสร้างฐานข้อมูลพื้นฐาน SMEs ขนาดใหญ่ (big data) เพื่อใช้วิเคราะห์วางยุทธศาสตร์ คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น จำนวน อยู่ในอุตสาหกรรมใด ซึ่งจะเสร็จในเดือน ก.พ.นี้ และจะกำหนดว่าหน่วยงานใดสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้

 

การให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ อาทิ ปตท. SCG DENSO DELTA โตโยต้า ฮอนด้า ฯลฯ รวมกว่า 20 บริษัท เป็นพี่เลี้ยงบ่มเพาะ SMEs สู่ตลาดโลก (big brother) ขณะเดียวกันใช้ digital platform B2B หรือ T-Good Tech ขึ้นมาเพื่อให้ SMEs สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายออนไลน์สากลเพื่อเปิดตลาด ข้อมูลธุรกิจ เจรจากับต่างประเทศ จะเริ่มกับญี่ปุ่น และฮ่องกง (HKTDC)ก่อน

“การขึ้นไปอยู่บน T-Good Tech ได้ SMEs ต้องมีคุณสมบัติทำธุรกิจมาแล้ว มีความสามารถในการผลิต มีศักยภาพและต้องการเชื่อมกับคู่ค้าใหม่ เคยค้าขายกับตลาดต่างประเทศหรือไม่ก็ได้ เรากำลังขึ้นทะเบียนขอเปิด platform และจะเปิดตัวในอีก 3 เดือน”

อย่างไรก็ตาม การทำแผนนโยบายทั้งหมดต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับทางสมาคมธนาคารไทย ให้เข้ามาช่วยอบรมทักษะทางด้านการเงินสมัยใหม่ให้ SMEs อาทิ การทำบัญชีเดียวตามเกณฑ์ที่ถูกต้อง ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมแต่ละภาค ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยฟอร์มทีมขึ้นมา เพื่อจัดอุตสาหกรรมสัญจรขึ้นเป็นกลยุทธ์เชิงรุกลงพื้นที่ไปหา SMEs เป็นครั้งแรก จะเริ่มขึ้นภายในไตรมาส 1 นี้

“มาตรการทั้งหมดเป้าหมายเพื่อช่วยพัฒนาฐานรากและวิสาหกิจชุมชน จะเน้นเรื่องอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป สินค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มท่องเที่ยว บริการ การปรับตัว 4.0 ให้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การใช้เครื่องมือออนไลน์พัฒนาสู่การส่งออก ปีนี้จะได้เห็น SMEs สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มศักยภาพไปสู่ 4.0 ได้ โดยเฉพาะระดับชุมชนใช้ดิจิทัลเข้ามา มีเงินทุนพร้อมเดินหน้าต่อไป ขณะเดียวกันรายที่ฟื้นฟูสามารถพลิกฟื้นได้มากขึ้น”