5 ยักษ์รถยนต์ชิงธงไฮบริด ผนึกชิ้นส่วนทุ่ม 5 หมื่นล้าน
ค่ายรถจูงมือซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนเท 5 หมื่นล้านเดินเครื่องลุยตลาดไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด บิ๊กโตโยต้าประเดิมส่ง “ซีเอช-อาร์” ปลายควอร์เตอร์แรกปีนี้ “มาสด้า” เล็งเพิ่มกำลังผลิตเครื่องยนต์ 1.2 แสนเครื่องต่อปี หวั่นรถยนต์ไฟฟ้าจีนนำเข้าปลอดภาษีตามกรอบเอฟทีเอ ทำตลาดป่วน
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ปี 2561 คึกคักอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยปรากฏว่ามีค่ายรถยนต์หลากหลายยี่ห้อประกาศทุ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกับโครงการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบ ประกอบด้วย 1.รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle : HEV) 2.รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) ซึ่งคิดอัตราภาษีสรรพสามิตแค่ 50% และ 3.รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) คิดภาษีสรรพสามิตแค่ 2%
5 ค่ายยักษ์ประกาศลุยไฮบริด
โดยก่อนสิ้นปี 2560 มีผู้ประกอบการ 5 ราย ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มรถยนต์ไฮบริดตามกรอบเวลา ประกอบด้วย โตโยต้าลงทุน 20,000 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 70,000 คัน ใช้โรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา ตามมาด้วยนิสสัน ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 10,960 ล้านบาท ใช้โรงงานนิสสัน กม.21 บางนา-ตราด กำลังผลิต 80,000 คันต่อปี ถัดมาเป็นมาสด้า ขอรับส่งเสริมด้วยมูลค่าลงทุน 11,4000 ล้านบาท ใช้โรงงานออโต้ อัลลายแอนซ์ จ.ระยอง ผลิตรถยนต์มาสด้า กำลังผลิต 120,000 คันต่อปี
ขณะที่ค่ายฮอนด้า ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 1,070 ล้านบาท ใช้โรงงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี กำลังผลิตที่ 37,000 คันต่อปี และค่ายซูซูกิ ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 2,500 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ด้วยกำลังผลิต 12,000 คันต่อปี
นอกจากนี้ยังมีค่ายยุโรป ยื่นขอรับการส่งเสริมในกลุ่มรถยนต์ประเภทปลั๊ก-อิน ไฮบริด อีก 3 ราย ประกอบด้วย ค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ มูลค่า 600 ล้านบาท ใช้โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ สมุทรปราการ กำลังผลิต 8,000 คันต่อปี ค่ายบีเอ็มดับเบิลยู ยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่า 705 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอมตะซิตี้ จ.ระยอง กำลังผลิต 100,000 คันต่อปี และค่ายเอ็มจี ยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่า 1,030 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จ.ชลบุรี กำลังผลิตที่ 7,000 คันต่อปี
“กลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด และกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ยังมีเวลาเพียงพอ เพราะกรอบเวลาให้ไว้ถึง 31 ธันวาคม ปี 2561” แหล่งข่าวกล่าว
ด้านนายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวสั้น ๆ ว่า โตโยต้า, นิสสัน, ฮอนด้า และมาสด้า ยื่นขอเข้าประเภทไฮบริดเรียบร้อย ขณะที่ค่ายยุโรปทั้งเบนซ์และบีเอ็มดับเบิลยู ยื่นขอประเภทปลั๊ก-อิน ไฮบริด รวมถึงเอ็มจีด้วย
โตโยต้านำร่อง “ซี-เอชอาร์”
แหล่งข่าวฝ่ายบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า หลังได้รับส่งเสริมคาดว่ารถยนต์ไฮบริดรุ่นแรกที่นำออกวางตลาดในราวปลายควอร์เตอร์แรกปีนี้ น่าจะเป็นโตโยต้า ซี-เอชอาร์ เอสยูวีไซซ์กลาง ขนาดเครื่อง 1.8 ลิตร และ 1.8 ลิตรผสมกับมอเตอร์ไฟฟ้า (ไฮบริด) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำงานร่วมกับทางซัพพลายเออร์หลายราย อาทิ ไทยซัมมิท ฯลฯ ในการปรับปรุงชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้สอดรับกับรถยนต์ในกลุ่มนี้ โดยรายละเอียดนำเสนอบีโอไอจะมีทั้งแผนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าปีละประมาณ 70,000 ชิ้น และชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น ประตู, กันชน, เพลาหน้า-หลัง และอื่น ๆ ปีละเกือบ 10 ล้านชิ้น ซึ่งทั้งโครงการน่าจะมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมูลค่าราว ๆ หมื่นล้านบาทต่อปี
มาสด้าเพิ่มกำลังผลิตเครื่องยนต์
นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแผนลงทุนในปี 2561 ว่า มาสด้าจะร่วมมือกับซัพพลายเออร์ลงทุนเกี่ยวกับชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้กับรถยนต์มาสด้าทุกรุ่น และรถยนต์ในกลุ่มไฮบริด ทั้งมอเตอร์ไฟฟ้า, เจเนอเรเตอร์ และอื่น ๆ ซึ่งน่าจะใช้เม็ดเงินหลายหมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวฝ่ายบริหารมาสด้ากล่าวเสริมว่า เฉพาะโรงงานมาสด้า พาวเวอร์เทรน เมนูแฟคเจอริ่ง (MPMT) ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.ชลบุรี จะมีการลงทุนเพิ่มอีกราว ๆ 7.2 พันล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตเครื่องยนต์จาก 30,000 เครื่องต่อปี ไปเป็น 1.22 แสนเครื่องต่อปี ภายในครึ่งปีแรกของปี 2561 นอกจากนี้ยังประกาศแผนลงทุนเพื่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ใหม่ พร้อมเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งจะให้มีกำลังการผลิตเทียบเท่ากับกำลังการผลิตของโรงงานประกอบเครื่องยนต์ในปัจจุบัน
สำหรับโรงงานประกอบเครื่องยนต์ของมาสด้าเริ่มสายการผลิตอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ประกอบเครื่องยนต์สกายแอคทีฟคลีนดีเซล ขนาด 1.5 ลิตร และเครื่องยนต์สกายแอคทีฟเบนซิน ขนาด 1.3 ลิตร เพื่อป้อนให้กับโรงงานออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) หรือเอเอที
สำหรับรถยนต์มาสด้า 2″เราก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี กว่า 800 ไร่ สำหรับการขึ้นรูปผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ โครงสร้างตัวถัง ระบบส่งกำลัง นอกจากป้อนตลาดในประเทศแล้ว ยังรองรับฐานการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งมาเลเซีย และเวียดนาม”
มิตซูบิชิพุ่งเป้าปลั๊ก-อิน ไฮบริด
นายโมริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มิตซูบิชิสนใจเข้าร่วมโครงการรถยนต์ในกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด โดยตอนนี้ยังมีเวลาพอ เนื่องจากกรอบเวลาสามารถยื่นได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมามิตซูบิชิถือเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ในกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งขณะนี้มิตซูบิชิมีสินค้า 1 รุ่น ที่ออกจำหน่ายและได้รับความนิยม คือ มิตซูบิชิ เอาต์แลนเดอร์ และตามแผนงานในช่วงระยะกลางถึงระยะยาว ยังมีแผนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด ไปพร้อมกับรถยนต์รุ่นอื่น ๆ อีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีนั้น ผู้ผลิตยังให้ความสำคัญน้อย เพราะตลาดยังต้องเตรียมความพร้อมอีกมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วนไม่ว่าจะเป็นตัวถังซึ่งต้องพัฒนาให้มีน้ำหนักเบา แบตเตอรี่ต้องเก็บประจุได้มากเพื่อให้รถวิ่งได้ไกลขึ้น และสถานีชาร์จประจุซึ่งยังไม่แพร่หลาย รวมถึงตลาดเองก็น่าจะได้รับผลกระทบจากรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ตามข้อตกลงการค้าหรือเอฟทีเอ ซึ่งในวันที่ 1 มกราคม 2561 สินค้าจำนวน 703 รายการ ที่นำเข้าจากประเทศจีน จะเสียอัตราภาษี 0% ซึ่งในจำนวนนั้นมีรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี รวมอยู่ด้วย
สรรพสามิตยันไม่กระทบ
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ (8-12 ม.ค.) จะมีการหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสรรพสามิต, กรมศุลกากร, กระทรวงการคลัง, บีโอไอ และ สศอ. เกี่ยวกับแนวทางรับมือผลกระทบจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่สินค้ารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากประเทศจีน จะได้รับการลดอากรขาเข้าลงเหลือ 0% อย่างไรก็ดีในเบื้องต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมสรรพสามิตมองว่า ในระยะ 5 ปีนี้ รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนจะยังไม่สร้างผลกระทบต่อโครงสร้างภาษีรถยนต์ในประเทศไทยปัจจุบัน
“ตอนนี้ยี่ห้อรถอีวีจากประเทศจีนยังไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับของคนไทย ดังนั้นสิ่งที่จะหารือกันก็คือ แนวทางการรองรับผลกระทบในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้ามากกว่า” แหล่งข่าวกล่าว