5 ค่ายชิงลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า BOI ชง “บิ๊กตู่” ต่ออายุแพ็กเกจไฮบริด

อัปเดตล่าสุด 27 พ.ย. 2560
  • Share :
  • 593 Reads   

“โตโยต้า” ฉลุยรับบัตรส่งเสริมรถยนต์ไฮบริดเจ้าเดียว พร้อมถล่มตลาดระลอกแรกด้วยเอสยูวีไซส์กลาง “ซี-เอชอาร์” “บีโอไอ” ทาบเจรจา 5 ค่ายลงทุน ทั้งบีเอ็มฯ-เบนซ์-นิสสัน-มิตซูบิชิ-เอ็มจี พร้อมต่ออายุมาตรการส่งเสริมไฮบริด ฟากค่ายยุโรป-จีนก้าวข้ามขอลุย ปลั๊กอิน-รถยนต์ไฟฟ้า

โปรเจ็กต์ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยกำหนดเงื่อนไขสิทธิประโยชน์แยกประเภทของกิจการตามประเภทของรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบ คือ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle : HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) โดยมีแพ็กเกจด้านภาษีสรรพสามิตสนับสนุนคิดในอัตรา 50% ของสองแบบแรก และ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ประกาศไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กำลังจะสิ้นสุดการยื่นส่งเสริมประเภทไฮบริด ที่ใช้เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าในวันที่ 31 ธันวาคม 2560

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการที่สนใจผลิตรถยนต์ประเภทไฮบริดต้องยื่นส่งเสริมให้ทันภายในวันที่ 29 ธ.ค. 2560 แต่ขณะนี้มีเพียงค่ายโตโยต้าเพียงค่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งยื่นขอผลิตรถยนต์ไฮบริดในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ส่วนค่ายอื่น ๆ อยู่ระหว่างเจรจา

บีโอไอเตรียมชงต่ออายุไฮบริด

ดังนั้น การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ครั้งถัดไป ซึ่งน่าจะมีขึ้นราว ๆ ปลายเดือนธันวาคม 2560 กำลังพิจารณาขอยืดระยะเวลาให้ค่ายรถยื่นผลิตรถยนต์ประเภทไฮบริด และกิจการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถอีวีที่กำหนดไว้ 10 รายการ เช่น ผลิตแบตเตอรี่, แทรกชั่นมอเตอร์ กิจการระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ ผลิตสายชาร์จแบตเตอรี่พร้อมเต้ารับ-เต้าเสียบ ออกไปอีกว่าจะดีหรือไม่ โดยจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานบอร์ดพิจารณา

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จะเสนอให้มีการต่อมาตรการแพ็คเกจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ประเภทไฮบริตที่จะหมดอายุลงในเดือนธันวาคมนี้ เนื่องจากมีนักลงทุนสนใจที่จะผลิตและลงทุนในรถประเภทนี้อยู่ ติดเพียงเงื่อนไขเล็กน้อยที่ยังสามารถเจรจาต่อไปได้ อย่างไรก็ตามการเสนอต่ออายุมาตรการนี้ขึ้นอยู่กับทาง BOI หากเสนอทันในการประชุมบอร์ด BOI ครั้งต่อไป ก็จะเสนอเข้าบอร์ดทันที

ส่วนนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาระเบียงเสรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ขณะนี้มีนักลงทุนยืนยันที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่แล้ว 5 ราย คือ นิสสัน-BMW-FOMM-SAIC รวมทั้งล่าสุดคือ BENZ เป็นรายใหม่ล่าสุดที่แสดงความสนใจเข้ามาด้วย

ค่ายยุโรปพุ่งเป้าปลั๊ก-อิน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่ค่ายรถยนต์ยังไม่ยื่นขอส่งเสริมภายในปีนี้ เนื่องจากแต่ละค่ายมองข้ามรถยนต์ประเภทไฮบริดไปสู่กลุ่มปลั๊ก-อินไฮบริดมากกว่า เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าบ้านได้ และระยะหลังค่ายยุโรปส่วนใหญ่มีรถในกลุ่มปลั๊ก-อินไฮบริดวางจำหน่ายจำนวนมาก ทั้งเมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู และวอลโว่ ฯลฯ

แหล่งข่าวจากบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) โดยจะมีการลงทุนทั้งระบบและชิ้นส่วนมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับการอนุมัติในเร็ว ๆ นี้

โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ต้องการตอบสนองความต้องการลูกค้ารถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อินไฮบริด ซึ่งระยะหลังมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และสอดรับกับเป้าหมายของบริษัทที่กำหนดว่าจะทำตลาดรถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อินไฮบริด ให้ได้มากกว่า 1 ใน 3 ของยอดขายทั้งปี และกำหนดว่ามากกว่าครึ่งที่ขายจะต้องเป็นรถที่ผลิตในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสถานีชาร์จไฟ ซึ่งขณะนี้ครอบคลุมทั่วทั้ง กทม. และปริมณฑล โดยเฉพาะตามศูนย์การค้า อาทิ สยามดิสคัฟเวอรี่, เซ็นทรัล เวิลด์ และพาราไดซ์ ปาร์ค พร้อมทั้งกำหนดเป็นนโยบายให้ดีลเลอร์ทุกรายติดตั้งจุดชาร์จไฟมากกว่าโชว์รูมละ 1 แห่ง ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีดีลเลอร์ทั่วประเทศกว่า 31 แห่ง

นิสสันดัน “โน๊ต” เข้าหมวดรถอีวี

ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงค่ายยุโรปเท่านั้นที่มองผ่านเทคโนโลยีไฮบริด ค่ายญี่ปุ่นก็เช่นกัน โดยเฉพาะค่ายนิสสันกำลังหารือกับทางบีโอไอเพื่อนำเสนอโน๊ต อี-พาวเวอร์ เข้ารับการส่งเสริมเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ เพียงแต่ในระบบยังมีเครื่องยนต์ขนาดเล็กเพื่อเก็บประจุไฟฟ้าในแบตเตอรี่ ซึ่งน่าจะได้รับการเห็นชอบในเร็ว ๆ นี้ และนิสสันยังมีแผนวางจำหน่ายนิสสัน ลีฟ ที่เพิ่งเปิดตัวในญี่ปุ่น ในปี 2561 อีกด้วย

ขณะฟากมิตซูบิชิ แม้จะยังไม่มีรายงานว่ายื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ แต่ก่อนหน้านี้ นายโมริคาซุ ชกกิ ประธาน บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด ระบุชัดเจนว่า มิตซูบิชิพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมทั้งรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ออกสู่ตลาดมาอย่างต่อเนื่อง และเป้าหมายของมิตซูบิชิจะพุ่งเป้าไปที่ปลั๊ก-อิน ไฮบริดแน่นอน

โตโยต้าพร้อมขายซี-เอชอาร์

สำหรับค่ายญี่ปุ่นหนึ่งเดียวที่ยังให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฮบริด แหล่งข่าวจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากได้รับส่งเสริมในกิจการรถยนต์ไฮบริด คาดว่ารถยนต์รุ่นแรกที่นำออกทำตลาดได้ก่อนรุ่นอื่น ๆ คือ โตโยต้า ซี-เอชอาร์ เอสยูวีไซซ์กลาง ขนาดเครื่อง 1.8 ลิตร และ1.8 ลิตรผสมกับมอเตอร์ไฟฟ้า (ไฮบริด) ซึ่งในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมอวดโฉมให้ลูกค้าชาวไทยได้สัมผัส ส่วนราคาขายน่าจะแข่งขันในตลาดได้อย่างสบาย ๆ

เพราะได้สิทธิประโยชน์มากมายจากทางบีโอไอโครงการขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) ของโตโยต้าผ่านการอนุมัติจากบีโอไอเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยจะมีกำลังการผลิตปีละ 70,000 คัน และการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ปีละประมาณ 70,000 ชิ้น และชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น ประตู, กันชน, เพลาหน้า-หลัง และอื่น ๆ ปีละประมาณ 9,100,000 ชิ้น ภายใต้งบประมาณการลงทุนมูลค่า 19,016 ล้านบาท โดยโครงการจะมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,314 ล้านบาทต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา

จีนขอเอี่ยวรถยนต์ไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากค่ายยุโรป-ญี่ปุ่นแล้ว ประเทศจีนซึ่งมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากสนใจลงทุนรับสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มเซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสทรี SAIC ทีขยายตลาดเข้ามาในประเทศไทย ในแบรนด์ MG ร่วมมือกับทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ในสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 51% และ 49% มีโรงงานผลิตอยู่ที่จังหวัดระยอง โดยช่วงที่ผ่านมายืนยันชัดเจนว่าจะเข้าร่วมแพ็กเกจส่งเสริมรถยนต์ในกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า

อีกค่ายหนึ่งที่ประกาศสนใจเข้าร่วมแพ็กเกจรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ FOMM Corporation แม้ว่าโปรดักต์อาจจะไม่เหมาะสมกับตลาดบ้านเรามากนัก เนื่องจากเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งถูกคิดค้นมาจากวิศวกรชาวญี่ปุ่น “ฮิเดโอะ ซึรุมากิ” ซึ่งเคยทำงานให้กับซูซูกิและโตโยต้า ปัจจุบันผันตัวเองมาก่อตั้งบริษัท FOMM Corporation โดยดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท “เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย)” ในประเทศไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ “FOMM” โดยวางแผนเริ่มจำหน่ายรถไฟฟ้าจิ๋วในปี 2018