“ฮิตาชิ” ขนนวัตกรรมบุกตลาด ทุ่มลงทุนปั้นไทยฮับ “เอไอ” รับดีมานด์อีอีซี

อัปเดตล่าสุด 14 พ.ย. 2560
  • Share :
  • 443 Reads   

“ฮิตาชิ” ยกทัพธุรกิจลุยตลาดโลก ดันเทคโนโลยีเอไอ “ลูมาด้า” (Lumada) หัวหอกรุกสร้างโซลูชั่นตอบโจทย์ทุกธุรกิจ-อุตสาหกรรม ยกไทยเป็นฮับเอไอ-การเงิน-ระบบอาคารสปริงบอร์ดรุกเอเชีย-ตะวันออกกลาง เตรียมผุดศูนย์เอไอกลางนิคมอมตะรับดีมานด์อีอีซี พร้อมตั้งเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ปั้นวิศวกรลิฟต์-บันไดเลื่อนเชี่ยวชาญสูง หวังจับเมกะโปรเจ็กต์ ด้านการเงินโฟกัสตลาดตู้เอทีเอ็ม ชูนวัตกรรมช่วยลดค่าใช้จ่าย พร้อมโซลูชั่นครบวงจร หวังย้ำภาพอันดับ 1

ที่ผ่านมาคนไทยอาจรู้จักแบรนด์ “ฮิตาชิ” ในฐานะผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อย่าง หม้อหุงข้าว ตู้เย็น แอร์ และเครื่องซักผ้า แต่แบรนด์อายุ 107 ปี จากแดนปลาดิบรายนี้ ถือเป็นหนึ่งในยักษ์อุตสาหกรรมที่มีสินค้าและบริการหลากหลายเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ไอที เคมี การแพทย์ การเงิน ยานยนต์ ฯลฯ และปัจจุบันได้รุกตลาดโลกด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ และโซลูชั่นตอบโจทย์ของธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมไปถึงสังคม ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จทางธุรกิจไปพร้อมกับสังคมที่ยั่งยืน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา”ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน “ฮิตาชิ โซเชียล อินโนเวชั่น ฟอรัม” ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งภายในงานมีการเปิดเผยทิศทางรุกตลาดโลก พร้อมทั้งขนนวัตกรรมต่าง ๆ จากกลุ่มธุรกิจเอไอ การเงิน การแพทย์ ความปลอดภัย และอื่น ๆ มาโชว์อย่างเต็มรูปแบบ

ปั้นโซลูชั่นทุกเซ็กเมนต์

นายโตชิอากิ ฮิกาชิฮาระ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ปัจจุบันดีมานด์โซลูชั่นและนวัตกรรมสำหรับแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาทิ สังคมผู้สูงอายุ ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง การขาดแคลนพลังงาน และความมั่นคง กำลังพุ่งสูงขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ขณะเดียวกันเทรนด์การค้าเริ่มเปลี่ยนสินค้าที่จับต้องได้ไปเป็นข้อมูลบิ๊กดาต้า ทำให้มีความต้องการทั้งระบบเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล

โดยฮิตาชิมีหัวหอกเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ภายใต้แบรนด์ “ลูมาด้า” (Lumada) นำทัพด้วยจุดแข็งที่สามารถสร้างโซลูชั่นด้วยบิ๊กดาต้าจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มศักยภาพโรงงานอุตสาหกรรม, วางแนวทางบำบัดมะเร็ง, จัดการระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ แตกต่างจากเอไอของคู่แข่งที่ใช้งานได้แบบเฉพาะด้าน พร้อมกับการนำไปประยุกต์ใช้ด้วยโนว์ฮาวและไลน์อัพสินค้าครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่บริษัทมีอยู่ เพื่อทั้งเก็บข้อมูลและนำโซลูชั่นไปใช้งาน

“ที่ผ่านมาลูมาด้าประสบความสำเร็จในหลายประเทศ เช่น ระบบเดินรถไฟอัตโนมัติในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ระบบบริการสุขภาพของเมืองฟุกุโอกะประเทศญี่ปุ่น และสร้างคอร์สฝึกความปลอดภัยไซเบอร์ร่วมกับบริษัทไซเบอร์ยิมของอิสราเอล เป็นต้น”

ปักธงไทยเป็นฮับ

สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จะเน้นหนักกลุ่มการเงินหรือฟินเทค และสินค้าอุตสาหกรรม โดยไทยจะเป็นฮับสำหรับฝึกวิศวกร รวมถึงเอไอ ซึ่งเตรียมตั้งศูนย์เอไอที่นิคมอมตะนครเพื่อรองรับการลงทุนในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) โดยในขั้นแรกจะใช้สร้างโซลูชั่นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารให้กับโรงงานต่าง ๆ ในนิคม และอาจขยายออกไปยังธุรกิจอื่น ๆ ทั้งของคู่ค้าและบริษัทเอง ทั้งนี้เพื่อรองรับแผนยกระดับธุรกิจจำหน่ายเครื่องเอทีเอ็ม ลิฟต์ และบันไดเลื่อน ในไทย เป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นครบวงจร หลังจากเน้นเพียงการขายสินค้ามานานหลายสิบปี

สปริงบอร์ดลิฟต์-บันไดเลื่อน

ในส่วนของธุรกิจระบบอาคาร ซึ่งรวมถึงลิฟต์และบันไดเลื่อน นายฮิโรชิ ซาโต รองประธานอาวุโสและเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจระบบอาคาร บริษัทฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่น อธิบายว่า ไทยจะเป็นฮับสำหรับขยายฐานสู่ตลาดเอเชีย อินเดีย และตะวันออกกลาง ในฐานะฐานการผลิตสินค้าและศูนย์ฝึกวิศวกรระบบลิฟต์และบันไดเลื่อนระดับเชี่ยวชาญสูงรองจากญี่ปุ่น เพื่อดูแลและฝึกเจ้าหน้าที่ในตลาดอื่นต่อไป รวมถึงเป็นฐานสำหรับทำตลาดกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งต่างอยู่ในระยะเริ่มต้นด้านตลาดลิฟต์และบันไดเลื่อนในประเทศไทย ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0, อีอีซี และการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า ที่จะทำให้เกิดอาคารและห้างสรรพสินค้าใหม่ ๆ โดยคาดว่าปีนี้จะมีดีมานด์รวม 5,210 เครื่อง และเพิ่มเป็น 5,300 เครื่อง ในปี 2561 ซึ่งปัจจุบันฮิตาชิมีส่วนแบ่ง 19% เป็นอันดับ 2 รองจากมิตซูบิชิที่ครองส่วนแบ่ง 30% ส่วนอันดับ 3 คือ Schindler มีส่วนแบ่ง 12%

โดยกลยุทธ์หลักจะเน้นจุดขายด้านนวัตกรรม อย่างระบบอินเวอร์เตอร์ช่วยประหยัดพลังงานและปรับความเร็วบันไดเลื่อนอัตโนมัติ รวมถึงโซลูชั่นบำรุงรักษาลิฟต์-บันไดเลื่อนแบบครบวงจร พร้อมกับจับมือหน่วยธุรกิจอื่น ๆ ในบริษัทเพื่อเพิ่มตลาดโดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นที่ขยายธุรกิจมาภูมิภาคนี้

ย้ำผู้นำระบบตู้เอทีเอ็ม

ไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มธุรกิจการเงิน ซึ่งนายเคอิตะ ทาดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฮิตาชิ เทอร์มินอล โซลูชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดตู้เอทีเอ็มมีโอกาสเติบโตจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ลดจำนวนสาขาของธนาคารที่ทำให้มีดีมานด์ตู้แบบมัลติฟังก์ชั่น

ในขณะที่ 80% ของตู้ที่ใช้อยู่เป็นรุ่นเก่ารองรับเพียงฝากหรือถอนเท่านั้น เพื่อจับกลุ่มธนาคารที่ต้องการเปลี่ยนตู้ ด้วยจุดขายด้านฟังก์ชั่น อาทิ การฝากและถอนในตู้เดียว ระบบความปลอดภัย และยังสามารถหมุนเวียนเงินในตู้ได้โดยอัตโนมัติ หรือรีไซเคิล (recycle) ช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บ-เติมเงิน และการสำรองเงินในตู้ลงได้ 35-72% พร้อมเตรียมเริ่มให้บริการโซลูชั่นครบวงจร ตั้งแต่ซ่อมแซมถึงติดตาม-วิเคราะห์การทำงาน ซึ่งได้รับความสนใจจากธนาคารหลายแห่ง ขณะเดียวกันเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีฟินเทคเพื่อรับมือเทรนด์สังคมไร้เงินสด ทั้งนี้ตั้งเป้ารายได้ปี 2561 เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปี 2559