“ฮิตาชิ-ฟูจิตสึ”ชู IoT เชื่อมอีอีซี เสนอทำบิ๊กดาต้ารง.ญี่ปุ่นทั้งหมดในไทย

อัปเดตล่าสุด 17 ก.ย. 2560
  • Share :
  • 510 Reads   

“ฮิตาชิ-ฟูจิตสึ” เสนอตัววางระบบ IoT ให้บริษัทญี่ปุ่น เผยงานจับคู่ธุรกิจ บริษัทณรงค์ฯ จับคู่กับบริษัทไฟเทคฯ ญี่ปุ่นทำสมองกล ขณะที่รายใหญ่ “ปตท.” เปิดหาพันธมิตรทำ “สถาบันวิจัย” ด้าน “SCG” เปิดหาพาร์ตเนอร์ต่อยอดทำไบโอชีวภาพ

เยือน EEC - กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำคณะนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 300 คน เข้ารับฟังการบรรยายสรุปความคืบหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา พร้อมดูงาน EEC

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการบริหารระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีบริษัทลูกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำอุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ระบบอินเทอร์เน็ต หรือ Internet of Things (IoT) ได้เซ็นสัญญากับบริษัทลูกของอมตะกรุ๊ปเรียบร้อยแล้ว เป้าหมายสำคัญ คือ เป็นผู้วางระบบ IoT ระบบอัตโนมัติให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งในประเทศไทยทั้งหมด รวมถึงสร้างโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ด้วย IoT โดยทางบริษัทอมตะฯได้เปิดเผยเบื้องต้นว่าทางฮิตาชิจะใช้พื้นที่ทั้งหมด 5 ไร่ ลงทุนสร้างสำนักงานและศูนย์ปฏิบัติการ รวมถึงส่วนที่เป็นคลัง IoT ต่าง ๆ ซึ่ง IoT จะนำไปสู่การสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า เพื่อรวมข้อมูลทั่วไปและข้อมูลจากวิดีโอหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน และข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อแสดงผล ซึ่งจะช่วยให้องค์กรภาครัฐและเอกชนได้รับข้อมูลและเข้าใจในสถานการณ์จากข้อมูลเชิงลึก

“ทางฮิตาชิได้ลงนามความเข้าใจ (MOU) กับทาง กรศ. เพื่อดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.พัฒนาเรื่องของ IoT 2.ดูแลผู้ประกอบการญี่ปุ่น รวบรวมข้อมูลความต้องการของนักลงทุนไทย และ 3.ทำดาต้าเซ็นเตอร์รูปแบบ Smart Factory ในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาบริษัทญี่ปุ่นในไทย โดยทางฮิตาชิเองจะเริ่มเข้าไปวางระบบ IoT ให้กับบริษัทที่อยู่ในเครือก่อน เช่น ฮิตาชิออโตโมทีฟ ฮิตาชิคอมเพรสเซอร์ ฮิตาชิคอนซูมเมอร์ เป็นต้น”

นอกจากนี้ คาดว่านักลงทุนรายใหญ่อย่างบริษัทฟูจิตสึ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์และบริการเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ไอทีที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีความเชี่ยวชาญในการวางระบบ IoT ให้กับภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน มีความสนใจที่จะเข้ามาในรูปแบบเดียวกันกับฮิตาชิ อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอความชัดเจนในการหารือกันอีกครั้ง

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทแม่ของนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย มีนโยบายให้บริษัทลูกทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 5,000 บริษัทให้เริ่มปรับปรุงเทคโนโลยีโดยใช้ IoT หรือวางระบบอัตโนมัติใหม่ เพื่อปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เป้าหมาย คือ การพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้เชื่อมโยงรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเข้ามายังระบบบิ๊กดาต้าที่ญี่ปุ่นเองกำลังลงทุนสร้างส่วนนี้ขึ้นมา

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ต้องศึกษาและให้ต่างประเทศเข้ามาช่วย หนึ่งในนั้น คือ ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น การใช้ IoT เข้ามาวางระบบให้เฉพาะบริษัทญี่ปุ่นในไทยแล้ว ทางฮิตาชิจะเป็นตัวหลักที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและวางระบบให้กับบริษัทไทยในอนาคต

นอกจากนี้ ไทยยังต้องพึ่งพาญี่ปุ่น ล่าสุดภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่นได้บันทึกความเข้าใจ (MOI) และข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม สถานทูตญี่ปุ่น และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ให้พัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านโครงการ Flex Campus ซึ่งเตรียมเจรจาดึงสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่นเข้ามาตั้งเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรใน EEC และให้สิทธิในการรับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับ S-Curve และสิทธิประโยชน์ EEC

สำหรับการจับคู่ธุรกิจ ภายในงาน Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า 3,000 คู่ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางมีโอกาสความเป็นไปได้สูงถึง 10% หรือกว่า 300 ราย ที่สามารถต่อยอดการเป็นพาร์ตเนอร์ ซัพพลายเออร์ ร่วมลงทุนกันในอนาคต และจะเกิดการลงทุนจริงตามมา โดยอุตสาหกรรมที่สนใจในการ Matching มากที่สุดยังคงเป็นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และบริการทางการแพทย์เช่น บริษัทณรงค์ฯของไทยจับคู่กับบริษัทไฟเทคฯของญี่ปุ่น ทั้ง 2 จะร่วมกันทำสมองกล (AI) หรืออย่างจังหวัดโยมา ซึ่งมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวนมาก สนใจที่จะ Matching ทั้งในระดับพื้นที่ต่อพื้นที่หรือจังหวัดต่อจังหวัด ส่วนรายใหญ่ของไทยจะมีสายสัมพันธ์อยู่แล้ว จึงไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม Matching แต่ได้หารือกันในห้องประชุม เช่น ปตท. เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาร่วมทำสถาบันวิจัยด้วย หรือ SCG ที่จะต่อยอดทำไบโอชีวภาพก็เปิดหาพาร์ตเนอร์เช่นกัน


“อมตะ” ลุ้นเขตส่งเสริมฯ

ที่ผ่านมา กรศ. ได้กำหนดให้นิคมอุตสาหกรรมที่สนใจจะยื่นเป็น “เขตส่งเสริมพิเศษ” ใน EEC จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดชัดเจน โดย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ กรศ. เปิดเผยว่า ต้องมีขนาดพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ มีโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ระบบบำบัด มีกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนชัดเจน เป็นต้น ซึ่งตอนนี้มี 3 แห่ง คือ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมอมตะ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเหมราช (WHA) และนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง ดังนั้น จึงให้นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะรองเลขาธิการ กรศ. เร่งดำเนินการเสนอแผนการพัฒนาเขตส่งเสริมพิเศษเข้ามา และประสานไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นใน EEC รวมพื้นที่ 20,000 ไร่ ให้นำพื้นที่ที่เหลือและเห็นว่ามีศักยภาพเสนอมา เพื่อเตรียมแผนรองรับการลงทุนในอนาคต

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ยื่นพื้นที่ 2,500 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี 1,500 ไร่ จากที่มีทั้งหมด 7,000 ไร่ และในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง 1,000 ไร่ จากที่มีทั้งหมด 3,000 ไร่ เพื่อขอให้ กรศ.พิจารณาประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับ 4 อุตสาหกรรมหลัก คือ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่/ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 2. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ 3. อุตสาหกรรมอากาศยานและชิ้นส่วน 4. อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง

ขณะนี้มีนักลงทุนเกี่ยวกับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง ชิ้นส่วนอากาศยานแสดงความสนใจลงทุนในนิคมฯอมตะ และพร้อมยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ประมาณ 10 ราย รอเพียงร่าง พ.ร.บ.EEC ประกาศ และมีผลบังคับใช้จริงเท่านั้น และหากมีการลงทุนจริงจะทำให้ยอดขายพื้นที่ของนิคมฯอมตะ 1,000 ไร่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้

นอกจากนี้ ในการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจ และการจับคู่ธุรกิจ ภายในงาน Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2560 มีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาติดต่อดูพื้นที่ในนิคมฯกว่า 10 ราย

“ตอนนี้นิคมฯทุกแห่งมีความพร้อม แต่ขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ.EEC จะประกาศเมื่อไร รัฐบาลบอกปลายปี 2560 หากช้ากว่าที่คิด อย่าให้เลยไตรมาสที่ 1/2561 ที่ลุ้นตอนนี้คือ 10 รายที่คุยไว้แล้ว และอีกกว่า 10 รายที่เกิดจากวัน Matching เพราะไม่เพียงส่งผลต่อยอดขายของอมตะ แต่จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนจริงของนักลงทุนทั้งหมดแน่นอน”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/economy/news-40302