50 ปี ASEAN สู่ฐานการส่งออกเทคโนโลยีล้ำยุคและอุตสาหกรรมคุณภาพด้วย IoT และ AI

อัปเดตล่าสุด 22 ส.ค. 2560
  • Share :

[สู่ความเป็นผู้นำ]

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) พร้อมก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมคุณภาพสูงด้วย IoT (Internet of Thing) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีสิงคโปร์เป็นผู้นำ

ส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ IoT คือ การเริ่มทดสอบการนำ AI มาใช้ในโรงงานเคมี ซึ่งอยู่ในพื้นที่เกาะจูรอง ประเทศสิงคโปร์ โดยพื้นที่นี้ Sumitomo Chemical เข้ามาดำเนินการตั้งแต่ปี 1984 และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (EDB) ของสิงคโปร์

Sumitomo Chemical ตั้งใจจะเพิ่มอัตราการผลิตและการคาดคะเนอัตราเสื่อมของเครื่องจักรในพื้นที่โรงงาน ซึ่ง มร.โทสะ ยาสุโอะ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมด้าน IT ได้ให้เหตุผลในการทำการทดลองที่สิงคโปร์ก่อนญี่ปุ่นว่า “สิงคโปร์เป็นประเทศที่ IT มีความก้าวหน้าและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ” จึงมีนโยบายที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากทดลองมาเผยแพร่สู่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นด้วย

อีกรายที่ได้รับการสนับสนุนจาก EDB คือ Yokogawa Electric  ซึ่งได้ก่อตั้งองค์กรพัฒนาเทคโนโลยีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “โค อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์” ขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ติดตั้งเทคโนโลยีการตรวจสอบเครื่องจักรในโรงงานไฟฟ้าด้วย IoT  ที่สามารถคาดคะเนอัตราเสื่อมของเครื่องจักรได้อย่างแม่นยำ

[งบสนับสนุน 256 พันล้านเยน]

เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมานี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศกลยุทธ์การวิจัยและพัฒนา “Research Innovation Enterprise (RIE) 2020” โดยมีนโยบายสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง IoT สำหรับอุตสาหกรรมและหุ่นยนต์ จนถึงปี 2020 รวมระยะเวลา 5 ปี ด้วยงบประมาณรวม 3.2 พันล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ (256 พันล้านเยน)

ไม่เพียงแค่การวิจัยและพัฒนา  EDB ยังให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง “ประเภทการสร้างมูลค่า” และร่วมกับ  Siemens AG และ Boston Consulting Group ในการสนับสนุนการวางแผนบริษัท 4.0 เพื่อให้สิงคโปร์สามารถรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 “Industry 4.0” ที่มีต้นกำเนิดจากเยอรมันได้

นอกจากนี้ “รัฐบาลยังรับผิดชอบรายจ่ายในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่จำเป็นอีกด้วย” (รองผู้อำนวยการ Lim Swee Nian) ซึ่งเล็งเห็นว่าเป็นการเผยแพร่เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมจากสิงคโปร์สู่เอเชีย

[สร้างมูลค่าการผลิต]

ไทยเองก็ไม่ยอมแพ้ โดยรัฐบาลไทยเสนอนโยบายการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมคุณภาพสูง “ไทยแลนด์ 4.0” ตั้งโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ พลิกพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ตั้งเป้าสร้างระบบเศรษฐกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มโดยมีนวัฒกรรมและความสามารถในการผลิตเป็นคีย์เวิร์ด

ในแง่รูปธรรมแล้ว การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต หุ่นยนต์ และอิเล็คทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และการลงทุนโรงงานทั้งหมดใน EEC จะได้รับการยกเว้นภาษีถึง 15 ปี (จากเดิม 8 ปี)

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงแสดงออกถึงความสงสัยต่อแนวทางการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 ว่า “เป็นเพียงแค่การอัพเดต 3.0 (อุตสาหกรรมหนัก) ที่มีอยู่เดิมให้เป็น 3.1 หรือ 3.2 หรือไม่” (มร. ซาโกะ โคจิ หัวหน้านักวิจัย Mizuho Research Institute) และเป็นที่น่าสนใจว่า อุตสาหกรรมของ ASEAN จะก้าวต่อไปในทิศทางใด

(โอชิโระ มาคิโนะ, สุซุกิ ทาคาชิ, ทาคาชิ ยูสุเกะ)