“มิตซูบิชิ-ฮิตาชิ”เตรียมบุกไทย เล็งตั้งโรงงานในอีอีซีรองรับรถไฟกรุงเทพฯ-ระยอง

อัปเดตล่าสุด 28 ก.ย. 2560
  • Share :

บริษัท มิตซูบิชิฯ ญี่ปุ่นเล็งขยายฐานผลิตใน EEC พร้อมชูโนว์ฮาวนวัตกรรมลด CO เสนอแผนรัฐบาลไทยพลิกโฉมโรงไฟฟ้ารูปแบบใหม่

นายเคนจิ อันโดะ ประธานและประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ผู้ผลิตเครื่องจักรและชิ้นส่วนประกอบสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังนั้น การที่รัฐบาลไทยมีนโยบายยกระดับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นับเป็นหนึ่งในการต่อยอดโอกาสทางธุรกิจของบริษัทและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคด้านพลังงานจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากอนาคตอาจจะมีการตั้งฐานการผลิต การตั้งโรงงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ เพราะโรงไฟฟ้าแบบเดิม เครื่องจักรเก่าทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งบริษัทจะทำหน้าที่พัฒนานวัตกรรมแทนที่เครื่องจักรเดิม 

ล่าสุด บริษัทได้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในการผลิตพลังงานสะอาด และได้นำเสนอแผนให้กับทางรัฐบาลไทยแล้ว โดยบริษัทได้มีการปรับปรุงเทคโนโลยีการเผาไหม้และแรงดันขั้นสูงที่อุณหภูมิ จาก 1,200 องศา ให้ถึง 1,700 องศา เพื่อตั้งเป้าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 100% รวมถึงโนว์ฮาวการอนุรักษ์พลังงานสะอาดที่สามารถอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่าง เต็มที่ แต่รัฐบาลต้องลงทุนสูง ประชาชนอาจต้องจ่ายค่าไฟมากขึ้น 2-3 เท่าประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ ขณะนี้รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนดังกล่าวอยู่

เทคโนโลยีดังกล่าวนับเป็นเป้าหมายของบริษัทและรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องจากทั่วโลกเริ่มหันมาคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกภาคอุตสาหกรรม หากมองแผนพัฒนาด้านพลังงานของไทยในอนาคต 70% ของการสร้างโรงไฟฟ้ายังต้องใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) พลังงานลมยังถือว่าไม่มาก ดังนั้นจะทำอย่างไรให้พลังงานเหล่านี้เดินไปควบคู่กับสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทจึงมองว่าจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วย

นายเคนจิ กล่าวต่อไปว่า ไทยมีแนวโน้มจะใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานถ่านหินน้อยลงมากกว่าประเทศอื่นซึ่ง พลังงานถ่านหินในไทยเทียบเท่าร้อยละ 20 ของพลังงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียร้อยละ 40 เท่ากับว่าต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าประเทศอื่น แต่การที่รัฐจะพึ่งเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานเดียวนั้นไม่สามารถทำได้และอาจเป็นความเสี่ยง จึงคิดว่าต้องพึ่งพาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ เพื่อรักษาสมดุลและความยั่งยืนในอนาคต

สำหรับรายได้ของบริษัท MHPS ในปี 2559 มียอดขายสุทธิทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านเยน และอัตราการเติบโตของบริษัทปี 2560 คาดว่าจะมาจากปัจจัยปริมาณการสั่งซื้อใหม่สำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน (ทั้งโครงการใหม่และธุรกิจบริการต่าง ๆ) ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของ MHPS เห็นได้จากจำนวนชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ได้ผลิตและจัดส่งให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นกังหันก๊าซ 43 ยูนิต, กังหันไอน้ำ 34 ยูนิต, หม้อไอน้ำ 49 ยูนิต (Gas Turbines 43 units, Steam Turbines 34 units, Boilers 49 units)

มีรายงานข่าวเข้ามาว่า บริษัท มิตซูบิชิและบริษัทฮิตาชิซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ MHPS ได้วางแผนขยายฐานผลิตการลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งมีทั้งการขยายโรงงานเดิมและแผนร่วมลงทุนสร้างเส้นทางรถไฟสาย ระยอง-กรุงเทพฯ อีกด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/economy/news-46503