สภาหอการค้าฯ จับมือ กมธ.แรงงาน วุฒิสภา ผลักดันแก้ปัญหาแรงงานไทย จ้างงานรายชม.-เงินเดือนค่าจ้างช่วงโควิดหักภาษีได้ 3 เท่า
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน แถลง 4 ข้อเสนอผลักดันการแก้ไขปัญหาแรงงานไทย ได้แก่ แนวทางของไทยต่ออนุสัญญา ILO 87 และ 98, การจ้างงานรายชม., จัดทำ Big Data แรงงานไทย, และรับรองหลักสูตรของสถานประกอบการ
วันที่ 30 ตุลาคม 2563 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แถลงข้อเสนอต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทย โดย
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำโดยประธานกรรมการ (นายกลินท์ สารสิน) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มีความห่วงใยในสถานการณ์แรงงานของไทยในปัจจุบัน จึงได้เข้าพบหารือกับประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา (พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว) และคณะกรรมาธิการการแรงงานทั้งชุด โดยได้นำเสนอประเด็นปัญหาเพื่อศึกษาปัญหาแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่
1. แนวทางของประเทศไทยต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ในอนาคตเพื่อการเจริญเติบโตของภาคการค้าและการลงทุนของประเทศไทย จำเป็นต้องทำข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศในระดับภาคีและพหุภาคี (อาทิ FTA Thai-EU, CPTPP , RCEP) ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐานสากลเกี่ยวกับความตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ดังนั้น จึงจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนและภาคเอกชนต้องร่วมศึกษาแนวทางการปฏิบัติและจุดยืนของประเทศไทยต่ออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ในการเจรจาในอนาคต
2. การส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และพัฒนาฝีมือแรงงาน ควรมีการศึกษาการแก้ไขปัญหาการขอยื่นรับรองหลักสูตรของสถานประกอบการ และพิจารณารับรองหลักสูตร e-Learning ในการรับรองหลักสูตรฯ พร้อมทั้ง จัดทำขั้นตอนเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการรับรองหลักสูตร และมาตรฐานของการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบหลักสูตร รายละเอียดที่เกี่ยวข้องและรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานและการฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ
3. การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแรงงาน (Big Data) ของประเทศไทย การจัดทำข้อมูลด้านแรงงาน โดยการสำรวจความต้องการแรงงานในรูปแบบ Digital Platform ที่สามารถ Matching ระหว่างสถานประกอบการกับแรงงาน
4. การจ้างงานรายชั่วโมงเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
จากที่กล่าวมาเบื้องต้นหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ จึงได้ร่วมมือกับ คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างคณะกรรมาธิการการแรงงาน และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อศึกษาและจัดทำแนวทางนโยบายการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทยเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. แนวทางของประเทศไทยต่อการรับสัตยาบันอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ที่มีผลต่อกรอบเจรจาการค้าระหว่างประเทศในระดับภาคีและพหุภาคี
2. การจ้างงานรายชั่วโมงเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในสถานการณ์โควิด-19
3. การจัดทำฐานข้อมูลแรงงาน (Big Data) ของประเทศไทย
4. การขอยื่นรับรองหลักสูตรของสถานประกอบการตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบหลักสูตร รายละเอียดที่เกี่ยวข้องและรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานและการฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ
นอกจากนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ถือโอกาสนี้ขอบคุณรัฐบาลที่ได้เห็นชอบข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงานจากสถานการณ์โควิด-19 ตามที่ได้จัดทำข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงาน ประกอบด้วย
1) การเพิ่มสิทธิประโยชน์การว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย รับเงินกรณีว่างงาน 62% (ไม่เกิน 90 วัน) และเลื่อนเวลาส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39
2) การขยายเวลาการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้าง จาก 5% เหลือ 2% เพิ่มเติมอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2563
3) การขยายมาตรการผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว MOU ที่มีวาระการจ้างงานครบ 4 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและสามารถทำงานได้ถึง 31 มีนาคม 2565