เวนดิ้งแมชีน คึกคักสวนเศรษฐกิจ บิ๊กแบรนด์ปูพรมตู้เพิ่มคาดสิ้นปีโต 15%
เวนดิ้งแมชีนคึกคัก โควิด-19 ฉุดไม่อยู่ “ซัน 108” เจ้าตลาด ปูพรม 7 พันตู้ ยึดทำเลแนวรถไฟใต้ดิน-ลานจอดรถ พร้อมอัพเกรดตู้ระบบสัมผัส ด้าน “เวนดิ้งพลัส” ผนึกพันธมิตรเพิ่มสินค้า ทั้งชุดชั้นใน, กระเป๋าถือ, เพลงเอ็มพี 3 พร้อมขนตู้มือ 1 ชิงทำเลโรงงาน ส่วน “ฟอร์ท” ประกาศเพิ่มน้ำหนักตู้กาแฟสด-เครื่องดื่มชง รับดีมานด์เพิ่ม เผยสารพัดสินค้า-ซัพพลายเออร์ โดดร่วมวงด้วยหวังเพิ่มช่องทางขาย คาดสิ้นปีตลาดรวมโตเบาะ ๆ 10-15% จาก 3 หมื่นตู้
นอกจากการขายสินค้าผ่านออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ หรือเวนดิ้งแมชีน ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางหนึ่งที่มีความคึกคักและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากภาพตู้ขายสินค้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่มีมากขึ้น อาทิ ตู้ขายหน้ากากอนามัย, เจลล้างมือ, อาหารสุนัข, เสื้อผ้า, อุปกรณ์ไอที ไปจนถึงซีดี-ทัมบ์ไดรฟ์ เอ็มพี 3 ที่ผุดขึ้นในหลายทำเลตั้งแต่ปั๊มน้ำมัน, สถานีรถไฟฟ้า, ริมถนน, หน้า-ในห้างสรรพสินค้า และอื่น ๆ
ซัน 108 ปูพรมเพิ่ม 7 พันตู้
นายเวทิต โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซันร้อยแปด จำกัด ผู้ผลิตและบริหารตู้ขายสินค้าอัตโนมัติแบรนด์ “ซัน 108” ในเครือสหพัฒน์ และเป็นรายใหญ่ของตลาดมีตู้รวม 1.3 หมื่นตู้ กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรกธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ หรือเวนดิ้งแมชีน ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะทำเลหลัก ๆ อย่างโรงงานอุตสาหกรรม สถานศึกษา และห้างสรรพสินค้าถูกปิดในช่วงล็อกดาวน์ และมีผู้ใช้บริการลดลง ยอดขายของบริษัทลดลงไป 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ธุรกิจตู้เวนดิ้งของบริษัท รายได้ฟื้นตัวกลับมาเติบโตประมาณ 4% แล้ว
ทั้งนี้ เป็นผลจากกลยุทธ์การหาทำเลใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพมาทดแทนจุดที่ได้รับผลกระทบ ด้วยแนวคิด “มุ่งตอบโจทย์คนเดินทาง” เพราะแม้จะมีเทรนด์เวิร์กฟรอมโฮม แต่ผู้บริโภคยังออกจากที่พักไปที่ต่าง ๆ เช่น สวนสาธารณะ รถไฟฟ้า ตลาด ฟิตเนส ฯลฯ โดยบริษัทจับตาพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่ตลอดว่าผู้บริโภคเดินทางไปไหนบ้าง และนำไปสู่การตั้งตู้ในทำเลใหม่ ๆ ที่เดิมไม่เคยมีตู้อัตโนมัติอยู่ เช่น ลานจอดรถของสถานที่ต่าง ๆ และแนวสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ MRT เพื่อตอบโจทย์เจ้าของรถ และผู้บริโภคที่หลายครั้งต้องการเครื่องดื่มเย็น ๆ ระหว่างเดินทาง
โดยบริษัทได้ระดมติดตั้งตู้ใหม่ในทำเลเหล่านี้อีกเกือบ 7,000 ตู้ ใกล้เคียงกับปีก่อน ๆ จนมีตู้รวมกว่า 13,000 ตู้ เป็นเบอร์ 1 ของตลาดทิ้งห่างคู่แข่งรายอื่น ๆ ยังอยู่ในหลักพันตู้ อาทิ เวนดิ้งพลัสที่มีประมาณ 5,000 ตู้ ส่วนเซเว่นอีเลฟเว่น 3,000 ตู้, ทีจีเวนดิ้งของทีซีพี กรุ๊ป มี 2,000 ตู้ และบลูเพย์อีก 2,000 ตู้ เช่นเดียวกับการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ซึ่งมีแบรนด์สินค้าแสดงความสนใจอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในสินค้าที่มาแรง เช่น น้ำผสมวิตามิน ที่กำลังเป็นเทรนด์ของตลาดเครื่องดื่ม และบริษัทยังได้เริ่มเดินหน้าเปลี่ยนตู้เป็นระบบสัมผัส พร้อมระบบชำระเงินครบวงจร ทั้งพร้อมเพย์, วีแชทเพย์, อาลีเพย์, บัตรแรบบิท เพื่อความสะดวกของผู้บริโภค และลดค่าใช้จ่ายของเจ้าของตู้ด้วยการลดความถี่ของการเก็บเงิน และเพิ่มความปลอดภัยด้วย
“เวนดิ้งพลัส” เพิ่มสินค้า
นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต และบริหารตู้ขายสินค้าอัตโนมัติแบรนด์เวนดิ้งพลัส และ 6.11 รวมประมาณ 5,700 ตู้ เบอร์ 2 ของตลาด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมา แม้ทำเลที่ตั้งตู้หยอดเหรียญอัตโนมัตตามโรงงานต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบ แต่บริษัทมองว่ายังเป็นทำเลที่ยังมีศักยภาพ และการที่โรงงานหลายแห่งคืนตู้เนื่องจากไม่มีการใช้งาน-ลดภาระค่าไฟฟ้า เป็นโอกาสรุกเข้าชิงทำเลที่เดิมถูกครอบครองโดยผู้เล่นรายอื่นอีกด้วย
โดยบริษัทจะใช้ตู้ใหม่ หรือตู้มือ 1 เป็นหัวหอกชิงทำเล ด้วยจุดเด่นด้านประหยัดไฟ และทำงานได้เสถียรกว่าตู้มือ 2 ตอบโจทย์ด้านลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของเจ้าของโรงงานและจูงใจให้เลือกตู้ของบริษัทเข้าไปติดตั้งได้ ทั้งนี้ จะเริ่มรุกทำเลโรงงานหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย แม้ในแง่ต้นทุนตู้มือ 1 จะสูงกว่าตู้มือ 2 แต่บริษัทจะอาศัยการสั่งผลิตจำนวนมาก เพื่อให้ได้อีโคโนมีออฟสเกล มาช่วย ขณะนี้สั่งไปกว่า 3,000 ตู้ เพื่อนำมารุกตลาดและมุ่งการติดตั้งในทำเลอื่น ๆ ทั้งห้าง ปั๊มน้ำมัน และสถานีขนส่งด้วย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้บริษัทจะมีตู้รวม 7,000-7,200 ตู้ เพิ่มจากปี 2562 ที่มี 3,900 ตู้ ขณะเดียวกัน เดินสายจับมือพันธมิตรเพื่อนำสินค้าต่าง ๆ มาวางจำหน่าย อาทิ ร่วมมือกับนารายา นำกระเป๋าถือขนาดเล็กมาขาย เช่นเดียวกับซาบีน่าที่จะนำชุดชั้นในมาวางจำหน่ายเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโมเดลตู้เอาต์เลต ซึ่งจะเป็นการนำสินค้าตกรุ่นจากแบรนด์ต่าง ๆ มาขายในราคาพิเศษ เพื่อตอบโจทย์ทั้งแบรนด์ที่ต้องการระบายสต๊อกสินค้า และผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าแบรนด์เนมราคาจับต้องง่าย จากก่อนหน้านี้จับมือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ นำเพลงในรูปแบบ USB และ CD MP3 มาวางจำหน่าย เน้นทำเลปั๊มน้ำมันตามแนวถนนระหว่างจังหวัด เพื่อตอบโจทย์คนเดินทาง เพราะปัจจุบันรถยนต์ทุกคันมีช่องต่อ USB สำหรับฟังเพลง และช่วงที่ผ่านมาสินค้าประเภท USB MP3 มียอดขายที่เติบโตต่อเนื่อง ต่อจากการนำสินค้ากลุ่มหน้ากากผ้า และเสื้อผ้าจากหลายแบรนด์ อาทิ นารายา ห่านคู่ ซาบีน่า ฯลฯ มาวางจำหน่ายในหลายทำเล อาทิ ห้างสรรพสินค้าไปก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม นอกจากทำเลและสินค้าแล้ว การรับชำระเงินได้หลากหลาย และรวดเร็วเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความได้เปรียบ บริษัทจึงจับมือพันธมิตร เปิดตัว SABUY Money บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ วอลเลต และบัตรแตะคล้ายบัตรแรบบิท เพื่อนำมาใช้กับตู้เวนดิ้ง และธุรกิจอื่น ๆ เช่น ศูนย์อาหาร โดยปัจจุบันมีพันธมิตร อาทิ ทรู มันนี่, แอร์เพย์, ซาบีน่า และอื่น ๆ
พร้อมกันนี้ ซีอีโอ สบาย เทคโนโลยี ยังคาดการณ์ด้วยว่า จากปัจจัยการเพิ่มและขยายจำนวนตู้ของบริษัทดังกล่าว รวมทั้งผู้ประกอบการรายอื่น ๆ จะทำให้ตลาดที่มีประมาณ 3 หมื่นเครื่อง เติบโต 10-15%
ฟอร์ทบุกตู้กาแฟ-เครื่องดื่มชง
นายชัชวิน พิพัฒน์โชติธรรม ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร “ฟอร์ท เวนดิ้ง” กล่าวว่า นอกจากการเดินหน้าขยายหรือเพิ่มจุดติดตั้งเวนดิ้งแมชีนอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีนโยบายจะใช้ตู้กดกาแฟสดและชงเครื่องดื่มอัตโนมัติเป็นเรือธง เพื่อรองรับดีมานด์เครื่องดื่มกาแฟที่มีมากขึ้น โดยได้พัฒนาตู้รุ่นใหม่ที่สามารถขายเครื่องดื่มได้ถึง 50 เมนู จากเดิม 20 เมนู รวมถึงยังมีบริการเติมเงินแบบเดียวกับตู้บุญเติมอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการเดินหน้ารุกตลาดของผู้ประกอบการเวนดิ้งแมชีนแล้ว ที่ผ่านมา มีบริษัทผู้ผลิตสินค้า และสินค้าหลาย ๆ แบรนด์ ที่เริ่มหันมาให้ความสนใจและนำเวนดิ้งแมชีน
มาช่วยเพิ่มช่องทางและยอดขายด้วย อาทิ “คิเรอิ คิเรอิ” แบรนด์ผลิตภัณฑ์ล้างมือของบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) เปิดตัวตู้กดอัตโนมัติบนสถานีรถไฟฟ้า BTS ขายโฟมล้างมือ เจลล้างมือ และสเปรย์ทำความสะอาดมือ เช่นเดียวกับขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ ที่ได้ทยอยตั้งตู้ขายเบเกอรี่ในอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล โรงงาน ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงเซเว่นอีเลฟเว่น เจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อ ที่ส่งตู้เวนดิ้งยึดทำเลทั้งคอนโดฯ และอาคารสำนักงาน หลังจากก่อนหน้านี้ แบรนด์นม อาทิ แลคตาซอย ดัชมิลล์ ได้ทยอยติดตั้งตู้ของตนเองในทำเลต่าง ๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า และห้างสรรพสินค้า
อ่านต่อ: