สเปกรถไฟความเร็วสูง CR Series รุ่น Fuxing Hao เส้นทาง กรุงเทพฯ-โคราช

เปิดสเปก “ฟู่ซิ่งเฮ่า” รถไฟความเร็วสูงเมดอินไชน่าปักหมุดไฮสปีด กทม.-โคราช

อัปเดตล่าสุด 28 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 2,037 Reads   

นับจากครั้งแรกวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ที่จับจอบขุดดินถมคันทางสร้างช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ณ มอหลักหิน เพื่อริเริ่มโครงการ

วันที่ 28 ต.ค. 2563 นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ ”พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง ”กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” โปรเจ็กต์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ร่วมแรง-ร่วมใจ พลักดันโครงการให้แจ้งเกิด โดยรัฐบาลประยุทธ์ทุ่มงบประมาณก่อสร้างเอง  179,412 ล้านบาท

หวังเชื่อมโยงหัวเมืองภูมิภาคของประเทศไทยไปสู่ สปป.ลาว และ จีน ภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative หรือ BRI จะเชื่อมภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงยุโรปได้ด้วยทางรถไฟ

ครั้งนี้ ”ประยุทธ์” เปิดทำเนียบจัดพิธีเซ็นสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากรที่ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผิดชอบ หลังฝ่ายไทยโดย ”คมนาคม” เจรจากับฝ่ายจีนอยู่หลายยกจนได้ข้อยุติร่วมกัน หลังกรอบวงเงินเพิ่มขึ้นจากเดิม 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.5 ล้านบาทและผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา

บนโต๊ะเจรจามีหลายประเด็น ทั้งสกุลเงินที่จะใช้ซื้อระบบจะมีทั้งสกุลดอลลาร์และเงินบาท เพื่อบาลานซ์ความเสี่ยงการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต

นอกจากนี้ฝ่ายจีนยังขอเปลี่ยนระบบรถไฟความเร็วสูงใหม่ จาก CRG2G (Hexie Hao) หรือเรียกกันว่ารุ่น ”เหอเสีย”  เป็น CR Series ( Fuxing Hao) หรือรุ่น “ฟู่ซิ่งเฮ่า”

ซึ่งฝ่ายจีนการันตีว่าเป็นระบบเทคโนโลยีทันสมัยและมีสมรรถนะที่ดีกว่า จึงทำให้วงเงินเพิ่มขึ้นอีก 2,500 ล้านบาท รวมที่ฝ่ายไทยต้องซื้อ 6 ขบวน เป็นเงิน 7,010 ล้านบาท โดยจีนยอมลดราคาให้จากขบวนละ 1,200 ล้านบาท เหลือ 1,166 ล้านบาท

ทำไมถึงราคาแพงขึ้น ลองมาดูสเปกคร่าว ๆ ของรถไฟความเร็วสูง ”ฟู่ซิ่งเฮ่า” ผลิตโดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น (CRCC) ออกแบบมีอายุใช้งาน 30 ปี ใน 1 ขบวนมีตู้รถไฟ 8 ตู้ 

แบ่งเป็นตู้สำหรับ Business Class 2 ตู้, Standard Class 4 ตู้, ตู้ธรรมดาที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ตู้ และตู้สำหรับรับประทานอาหาร 1 ตู้ โดยมีจำนวนที่นั่งรวม 594 ที่นั่ง แยกเป็น First Class 96 ที่นั่ง และ Standard Class 498 ที่นั่ง

ขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. โดยใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ซึ่งปรับปรุงระบบ traction Convertor ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น จึงสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 14.5%

ด้านระบบความปลอดภัย มีติดตั้งระบบวัดเสถียรภาพของตัวรถ จะตรวจวัดความสั่นสะเทือนทั้ง 3 แกน ได้แก่ Lateral, Vertical, Longitudinal แบบ Realtime และส่งสัญญาณผ่านระบบเครือข่ายเพื่อประมวลผลและแจ้ง เตือนเมื่อพบความสั่นสะเทือนที่ผิดปกติ และติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดเสถียรภาพของแคร่ และแจ้งเตือน เมื่อพบความผิดปกติ เช่น ความสั่นอุณหภูมิของเพลาล้อ เป็นต้น

เป็นครั้งแรกที่รถไฟความเร็วสูงจากจีนปักหมุดในประเทศไทยได้สำเร็จ

 

อ่านต่อ: