ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศ 8 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 14% หลังเจอพิษโควิด-19

ความต้องการใช้เหล็กในประเทศ 8 เดือนแรกลดลง 14% หลังเจอพิษโควิด-19

อัปเดตล่าสุด 20 ต.ค. 2563
  • Share :

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แจงพิษ COVID-19 ส่งผลกระทบหนัก  ฉุดปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศ 8 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 14% แต่ยังมั่นใจในนโยบาย “Made in Thailand” ที่ ส.อ.ท. ผลักดันและร่วมขับเคลื่อนกับภาครัฐจะช่วยฟื้นสภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศได้เร็วขึ้น

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของระบบอุตสาหกรรม เพราะเหล็กเป็นวัตถุดิบที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้าง ฯลฯ ในปี 2562  ทั่วทั้งโลกมีความต้องการใช้เหล็กสูงถึง 1,767 ล้านตัน แต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างรุนแรงนั้น ทำให้ความต้องการใช้เหล็กรวมของโลกในปี 2563 ถดถอยลง โดยคาดว่าจะเหลือ 1,725.1 ล้านตัน ลดลง 2.4% จากปี 2562 หากจำแนกผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้เหล็กปี 2563 กับปี 2562 เป็นรายประเทศ พบว่าเกือบทุกประเทศมีปริมาณความต้องการใช้เหล็กถดถอยลง ได้แก่ อิตาลี -22% อินเดีย -20% ญี่ปุ่น -19% สหรัฐอเมริกา -16% เกาหลีใต้ -8% ยกเว้นประเทศจีน ซึ่งมีปริมาณความต้องการใช้เหล็กปี 2563 มากกว่าปี 2562 +8%  โดยความต้องการใช้เหล็กรวมของโลกหากไม่รวมประเทศจีน จะถดถอย -13%

สำหรับประเทศไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มีปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็ก 11 ล้านตัน ลดลง 14% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยในช่วงท้ายปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณความต้องการใช้เหล็กทั้งปีราว 16.7 ล้านตัน ลดลง 10% จากปี 2562 โดยผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน ลดลง 11% และผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว ลดลง 9%

หากเปรียบเทียบกับวิกฤตการเงินโลก ค.ศ. 2009 เมื่อ 11 ปีก่อน ได้ส่งผลกระทบให้ปริมาณความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทย ปี 2552 ถดถอยลงถึง 21% แต่ในปีถัดไป คือปี 2553 ปริมาณความต้องการใช้เหล็กของไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มสูงขึ้นถึง 31%

แต่สำหรับวิกฤต COVID-19 นี้ ปริมาณความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยปี 2563 ถดถอยลง 10% แต่การฟื้นตัวจะช้าและต้องใช้เวลาหลายปี โดยคาดว่าปี 2564 ปริมาณความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก ราว 4% ถึง 5% เป็น 17.3 ถึง 17.5 ล้านตันเท่านั้น ดังนั้น การสนับสนุนจากภาครัฐทั้งการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายใน และการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยเร่งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศให้เร็วขึ้นได้

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ผลักดันนโยบาย “Made in Thailand” และรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคลัง เรื่อง “กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนโดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้ตามบัญชีรายชื่อที่ขึ้นไว้กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำหรับงานก่อสร้างได้กำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อนโดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในครั้งนั้น และหากในกรณีที่พบว่าผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ขณะที่ผู้เสนอราคาที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเสนอราคาสูงกว่ารายของต่างชาติไม่เกิน 3% ให้พิจารณาเลือกการจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการของไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงเชื่อมั่นว่าการผลักดันนโยบาย Made in Thailand อย่างจริงจังซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจฐานชุมชน (Local Economy) ของรัฐบาล จะช่วยให้อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศฟื้นตัวและสามารถใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้กำลังการผลิตเพียง 30% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับการใช้กำลังการผลิตเหล็กเฉลี่ยของโลกในปี 2562 ที่ 78% นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. ขอให้ภาครัฐพิจารณาให้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ต่างๆ ส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานและการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศ

 

อ่านต่อ: