กสอ. สุดเจ๋ง โชว์ 10 Success Case ใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนผลิตได้ปีละ 50 ล้าน

อัปเดตล่าสุด 28 ก.พ. 2562
  • Share :

กรุงเทพฯ 27 กุมภาพันธ์ 2562 - กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเปิดเวทีสัมมนา Success Case และบูรณาการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พัฒนาการออกแบบระบบอัจฉริยะเฝ้าติดตามและตรวจสอบดูแลการทำงานของเครื่องจักร (Machine Monitoring System) โชว์ความสำเร็จ 10 สถานประกอบการดีเด่น ใช้เทคโนโลยีติดตามการทำงานเครื่องจักร ด้วยแนวคิด “3-Stage Rocket Approach” หรือจรวด 3 ขั้น ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าการผลิตได้ปีละ 115 ล้านบาท ตั้งเป้าลดต้นทุนลงอีกร้อยละ 22​

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบอัจฉริยะเฝ้าติดตามและตรวจสอบดูแลการทำงานของเครื่องจักร (Machine Monitoring System) ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 โดยมีผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.สมุทรปราการ ปทุมธานี และนนทบุรี ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 100 กิจการ แบ่งเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 41 กิจการ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 4 กิจการ กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 32 กิจการ กลุ่มอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 9 กิจการ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 10 กิจการ กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 2 กิจการ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล 1 กิจการ และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ 1 กิจการ

ทั้งนี้ ในจำนวนนี้มีวิสาหกิจต้นแบบความสำเร็จดีเด่น หรือ Success case จำนวน 10 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท จักรยานสยาม อุตสาหกรรม จำกัด 2. บริษัท ฟิวเจอร์การ์เม้นท์ จำกัด 3. บริษัท คอทโก้ พลาสติกส์ จำกัด 4. บริษัท ฟูซันอินดัสเตรียล จำกัด 5. บริษัท จี พลาสติก จำกัด 6. หจก.วี เจ รับเบอร์ 7. บริษัท เอส เอ็น ซี คูลลิ่ง ซัพพลาย จำกัด 8. บริษัท ครีเอทีฟ อินโนเวชั่น จำกัด 9. บริษัท คิงส์สเตลล่า แลบบอราทอรี่ จำกัด และ 10. บริษัท สวนหลวงพลาสติก จำกัด

สำหรับโครงการนี้เกิดจากการสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ผ่านการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Internet of Things (IoT) Artificial Intelligence (AI) และ Big Data มาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นรูปแบบการทำงาน พร้อมผลักดัน “3–Stage Rocket Approach” หรือ “จรวด 3 ขั้น” ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่

  1. Stage 1 : Visualize Machine คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดึงข้อมูลจากสายการผลิตและเครื่องจักร เพื่อหาสาเหตุของปัญหาและสร้างโอกาสในการปรับปรุง
  2. Stage 2 : Visualize Craftsmanship คือ การแปลงวิธีการทำงานเป็นดิจิทัล เพื่อใช้ในการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานที่แม่นยำและหาวิธีการที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
  3. Stage 3 : Lean Automation System Integrators : หรือ LASI for SMEs คือ การเลือกปรับปรุงระบบอัตโนมัติอย่างเหมาะสมและคุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่ง Machine Monitoring System เป็นเครื่องมือที่ช่วยขับเคลื่อนให้ SMEs ไทยสามารถเข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ จากการดำเนินการดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ถึง 50 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 15 อีกทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้ถึง 65 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 15 การเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติงานได้ 15 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 25 สามารถลดแรงงานคนกว่า 5 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 20 ลดของเสียได้ถึง 10 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 และคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 80 ล้านบาทต่อปี

สำหรับปี 2562 นี้ กสอ.ยังคงเดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้เริ่มเปิดรับสมัครเอสเอ็มอีภาคการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve พื้นที่กรุงเทพมหานคร ขยายไปถึงภาคกลาง และภาคตะวันออก เพื่อผลักดันเอสเอ็มอีเข้าสู่ Stage 1 และ Stage 2 จำนวน 100 กิจการ และ Stage 3 จำนวน 10 กิจการ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 22 นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย