ค่ายรถใจป้ำแจกโบนัส 7 เดือน ‘ลีฟวิทเอาต์เพย์’ ลดต้นทุน

ค่ายรถใจป้ำแจกโบนัส 7 เดือน ‘ลีฟวิทเอาต์เพย์’ ลดต้นทุน

อัปเดตล่าสุด 12 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 1,748 Reads   

ค่ายรถยนต์ใจใหญ่ โควิดทุบยอดขายหดตัวลงเกือบครึ่งแต่กัดฟันแจกโบนัส บิ๊กแบรนด์ “โตโยต้า-ฮอนด้า-อีซูซุ” เอาไปเลย 7 เดือนบวกเงินพิเศษ ส่วนแบรนด์รองเร่งเจรจาสหภาพแรงงานพร้อมคลอดเร็ว ๆ นี้ ชี้แนวโน้มจ่ายสูสีกัน คนวงการย้ำกินบุญเก่า ปีนี้ทุกค่ายสั่งรัดเข็มขัด ด้านพี่ใหญ่โตโยต้านำร่องไอเดีย “ลางาน” ไม่รับเงินเดือนแบบอันลิมิต

แหล่งข่าวจากวงการรถยนต์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้แม้ว่าทั้งตลาดรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดขายรถยนต์ตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ลดลงมากถึง 83.55% และประเมินกันทั้งปีว่าตลาดรวมน่าจะทำได้แค่ 7-7.5 แสนคัน จากเดิมที่ทำได้ราว ๆ 1 ล้านคัน แต่อุตสาหกรรมรถยนต์กลับสวนทางกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ และน่าจะเป็นเจ้าเดียวที่มีการจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน แม้ว่าปีนี้เกือบทุกยี่ห้อทั้งรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ต่างเร่งหามาตรการรัดเข็มขัด ทั้งปรับลดจำนวนพนักงานและค้นหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 

ใจดีจ่ายโบนัส

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในกลุ่มท็อปทรี ทั้งโตโยต้า อีซูซุ และฮอนด้า ตอนนี้ได้พิจารณาและเริ่มทยอยจ่ายเงินโบนัสเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน และสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา โดยมีการพิจารณาและเจรจาจบไปตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เริ่มจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ประกาศให้โบนัสในปี 2563 สูงถึง 7.2 เดือน พร้อมเงินพิเศษอีก 20,000 บาท, บริษัท ตรีเพชร อีซูซุเซลส์ จำกัด จ่าย 7 เดือน และเงินพิเศษ 20,000 บาท, บริษัท อีซูซุ เอ็นยิ่น แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลและชิ้นส่วนเครื่องยนต์ จ่าย 7.1 เดือน บวกเงินพิเศษ 22,000 บาท

บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด จ่าย 7.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 41,000 บาท, บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด จ่าย 7.5 เดือน และเงินพิเศษ 40,000 บาท, บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด จ่าย 7 เดือน บวกเงินพิเศษ 20,000 บาท และบริษัท ฮีโน่ มอเตอร์ส เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จ่าย 7 เดือน บวกเงินพิเศษ 17,000 บาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า แม้การจ่ายเงินโบนัสปีนี้จะดูน้อยกว่าปีก่อน ๆ ซึ่งเป็นไปตามสภาพของผลประกอบการและอุตสาหกรรมโดยรวม แต่ถ้าย้อนดูถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะต่ำกว่าปี 2562 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปีที่แล้วทั้ง 3 ค่ายจ่ายโบนัสให้กับพนักงานเฉลี่ย 8 เดือน

ลุ้นค่ายรองจ่ายสูสีบิ๊กแบรนด์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ฝั่งที่พิจารณาโบนัสในภาคฤดูร้อนพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ในส่วนของค่ายรถยนต์ที่พิจารณาโบนัสในภาคฤดูหนาว เนื่องจากปีงบประมาณเริ่มเมษายน สิ้นสุดมีนาคมอาทิ นิสสัน, มิตซูบิชิ, ซูซูกิ, ฟอร์ด, มาสด้า และเอ็มจี ยังอยู่ระหว่างเจรจาระหว่างทีมผู้บริหารและตัวแทนของสหภาพแรงงาน ซึ่งถือเป็นการต่อรองโบนัสพิเศษประจำปีกันอย่างเข้มข้น โดยทุกรายหยิบประเด็นผลกระทบวิกฤตโควิดมาพิจารณาเป็นเรื่องหลัก

“การพิจารณาโบนัสของกลุ่มนี้น่าจะชัดเจนราวปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งต้องลุ้นกันว่า แต่ละค่ายจะตัดสินใจเดินตามบิ๊กแบรนด์ 3 ค่ายหรือไม่ แต่น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะยึดเอาผลประกอบการของปี 2562 มาพิจารณา หรือจะเรียกว่ายังกินบุญเก่ากันก็ว่าได้ แต่ยังมีความไม่แน่นอน เพราะตอนนี้ทุกยี่ห้อต้องรัดเข็มขัดเต็มที่ ที่ผ่านมาก็หยุดไลน์ผลิตปรับลดต้นทุนต่าง ๆ กันมาเป็นระยะ”

โตโยต้าปิ๊งไอเดียลีฟวิทเอาต์เพย์

แหล่งข่าวฝ่ายบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้พิจารณาและทยอยแบ่งจ่ายเงินโบนัส และเงินพิเศษให้กับพนักงานไปแล้ว ในรอบแรกช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์จำนวน 20,000 บาท ช่วงกลางปีในเดือนมิถุนายน 3 เดือน และในเดือนตุลาคมอีก 1 เดือน และจะจ่ายส่วนที่เหลือในวันที่ 25 ธ.ค.นี้อีกจำนวน 3 เดือน ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันแม้ว่าสภาพตลาดจะหดตัวลงก็ตาม

สำหรับมาตรการเซฟคอสต์บริษัทยังทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดจำนวนพนักงานให้สอดรับกับสภาพตลาด โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทได้ตัดสินใจเปิดโครงการเพื่อให้พนักงานสามารถใช้สิทธิลางานได้โดยไม่รับค่าจ้าง (leave without pay) แต่จะยังคงสถานภาพเป็นพนักงาน กับโครงการทดลองใช้การลาโดยไม่รับค่าจ้างและสวัสดิการเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานที่มีความจำเป็นหรือต้องการใช้สิทธิลางานมากกว่า 1 เดือนได้ใช้สิทธิตรงนี้ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาของการลาสูงสุด แต่ภายใต้เงื่อนไขต้องได้รับการอนุมัติและยินยอมจากหัวหน้างาน และพนักงานผู้ใช้สิทธิจะไม่ได้รับเงินเดือนหรือสวัสดิการใด ๆ จากบริษัท แต่คงไว้ซึ่งสถานภาพพนักงานและสามารถกลับเข้ามาทำงานต่อได้เมื่อพร้อม

“ตรงนี้เรามองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับพนักงานที่มีความจำเป็นจะต้องใช้วันหยุดงานเยอะ ๆ เช่น ต้องการไปเรียนต่อ เดินทางไปต่างประเทศ หรือดูแลบุตร ดูแลผู้ป่วย ฯลฯ ให้สามารถใช้สิทธิได้ เพียงแต่ช่วงเวลาที่เขาใช้สิทธิจะไม่ได้รับสวัสดิการและเงินเดือน ส่วนเงินประกันสังคมบริษัทยังสมทบให้ตามกฎหมาย”

เปิดช่องสมัครใจลาออก

ส่วนโครงการสมัครใจลาออกนั้น ยังเปิดโอกาสให้พนักงานที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตลอดทั้งปี โดยที่พนักงานรายใดมีความพร้อมก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้เลย ซึ่งบริษัทมีเงินออนท็อปให้กับพนักงานสูงสุด 54 เดือน ซึ่งจำนวนเงินจริงนี้จะขึ้นอยู่กับเกณฑ์และเงื่อนไขระยะเวลาการทำงานที่บริษัทกำหนด ลดหลั่นกันไป

“เราเปิดโอกาสให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่องไม่มีกำหนดระยะเวลา หรือตั้งเป้าว่าจะต้องมีพนักงานจำนวนเท่าใดเข้าร่วมโครงการ เพราะต้องการให้พนักงานที่มีความพร้อม หรือมีความต้องการจริง ๆ ได้ประโยชน์สูงสุด”

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า โครงการสมัครใจลาออกก่อนหน้านี้ ค่ายรถยนต์หลาย ๆ ค่ายพยายามทำมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นปี อาทิ ค่ายมิตซูบิชิ ซึ่งเปิดโครงการโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นพนักงานประจำที่มีอายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีอายุน้อยกว่าหรือเทียบเท่า 54 ปีบริบูรณ์ โดยให้เงินช่วยเหลือตามแต่ละช่วงอายุพนักงาน และอายุการทำงาน 8-35 เดือน หรือกรณีนิสสันไม่ต่อสัญญากับพนักงานสัญญาจ้าง 300 คน จากจำนวน 1,900 คน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นลดค่าใช้จ่ายให้เห็นมาตลอด เช่น ลดงบฯประชาสัมพันธ์ งบประมาณด้านซีเอชอาร์ หรือล่าสุดเคสโตโยต้า ย้ายออกจากการเช่าออฟฟิศสำนักงานบนตึกออลซีซั่นส์ ตั้งแต่ชั้น 41-43 พื้นที่กว่า 3,000 ตร.ม. ซึ่งมีค่าเช่าประมาณ 1,000-1,200 บาทต่อ ตร.ม. ต่อเดือนกลับไปใช้สำนักงานที่สำโรง และบางส่วนให้ไปประจำที่ศูนย์ฝึกอบรม TOYOTA Driving Experience Park บางนา กม.3