บีโอไอชงเคาะสูตรใหม่ลงทุนรถ BEV ค่ายญี่ปุ่น-ยุโรปเฮรับยกเว้นภาษี
บีโอไอเร่งค่ายรถยนต์ใส่เม็ดเงินลงทุน BEV ชง”บิ๊กตู่ “เคาะสูตรยกเว้นภาษี “เบนซ์-BMW-รถญี่ปุ่น” เด้งรับลูก เผยโรดโชว์จีน-ฮ่องกงฟาดเม็ดเงินลงทุนทะลุ 100% ฝันคว้าเป้าหมาย 1 ล้านล้านปีหน้า รุกไม่หยุดจัดกองทัพมดเคาะประตูนักลงทุนตัวต่อตัวย้ำหมุดอาเซียน-อเมริกา-ยุโรป ปักธงอุตสาหกรรม S-curve
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังโรดโชว์นักลงทุนที่มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง เมื่อ 20-25 ต.ค.ว่า ประสบความสำเร็จเกินคาด การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากจีนสูงขึ้นในช่วง 9 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้น 100%
“มีคำขอรับการส่งเสริมจากนักลงทุนจีน 4-5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ คาดปีนี้ ยอดลงทุนจากจีนจะเพิ่มขึ้น 30% จากปีที่แล้วที่มียอดลงทุน 5.5 หมื่นล้าน ซึ่งในการพบปะแบบตัวต่อตัวกับบริษัทระดับโลก ส่วนใหญ่รับปากว่า จะเข้ามายื่นขอลงทุนทุกบริษัท”
ชงคลอดเกณฑ์ภาษีรถ BEV
เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) วันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นอกจากรับทราบผลการโรดโชว์แล้ว ได้นำเสนอภาพรวมการรับคำขอการลงทุนทั้งปีด้วย นอกจากนี้ยังมีวาระพิจารณาเกณฑ์การนำเข้าและสิทธิพิเศษการยกเว้นอากรนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (battery electric vehicle : BEV) ซึ่งบอร์ดจะอนุมัติสูตรคำนวณภาษี, ขนาดการลงทุน, จำนวนที่จะผลิต เพื่อให้เข้าเกณฑ์การยกเว้นภาษีอากรและปีที่จะเริ่มผลิต
“วัตถุประสงค์เพื่อเร่งให้บริษัทที่เคยยื่นคำขอไว้ ทั้งไทย, ญี่ปุ่น, จีนและยุโรป รีบลงทุนเป็นรูปธรรมในช่วงเวลาพิเศษที่เราต้องการให้ใส่เม็ดเงินเข้าสู่ระบบการผลิตจริง”
ค่ายญี่ปุ่น-ยุโรปรับลูก BEV-EV
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีอากรของบีโอไอน่าจะทำให้ค่ายรถยนต์เดินหน้าไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วขึ้น หลังได้รับอนุมัติส่งเสริมก็ทยอยลงทุนได้จริง อาทิ ค่ายยุโรปอย่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ เปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่สำหรับใช้กับรถยนต์ BEV ถือเป็นโรงงาน 1 ใน 6 แห่งของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ผลิตแบตเตอรี่รองรับตลาดทั่วโลก และลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์เตรียมพร้อมในส่วนของอินฟราสตรักเจอร์ต่าง ๆ รวมถึงการนำเมอร์เซเดส-เบนซ์ อีคิวซี ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าล้วน ๆ เข้าสู่ตลาดประเทศไทย
เช่นเดียวกับค่ายบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งนายอูเว่ ควาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ได้ร่วมลงทุนกับแดร็คเซิลไมเออร์ กรุ๊ป เพื่อเปิดโรงงานประกอบแบตเตอรี่แรงดันสูงในประเทศเป็นทางการ ภายใต้งบฯลงทุนกว่า 500 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 2 ถือเป็นโรงงานประกอบแบตเตอรี่แรงดันสูงสำหรับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ครอบคลุมทั้งส่วนของการประกอบโมดูลแบตเตอรี่และการประกอบตัวเซลล์แบตเตอรี่
ค่ายญี่ปุ่นมีโตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ และมาสด้า หลังได้รับอนุมัติเกือบทุกบริษัทก็เตรียมลงทุนตามกรอบบีโอไอ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เปิดสายการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริดที่โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า เกตเวย์ โดยลงทุน 200 ล้านบาท สร้างโรงงานกำจัดซากแบตเตอรี่ในอีอีซีด้วย
นายธนานันต์ กาญจนคูหา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเซีย) จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่นแบรนด์ FOMM กล่าวว่า ได้ลงทุนเช่าโรงงานประกอบรถอีวี ฟอมม์ ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร บนพื้นที่ 7 ไร่ และมีกำลังผลิตอยู่ที่ 10,000 คันต่อปี
10 เดือนต่างชาติลงทุนตามเป้า
นางสาวดวงใจ กล่าวถึงเป้าหมายการลงทุนทางตรงผ่านบีโอไอในช่วง 10 เดือนของปีนี้ว่า นักลงทุนสนใจลงทุนด้วยสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น แต่การขยายการลงทุนของเอกชนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ขณะที่เศรษฐกิจโลกถดถอย แต่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานหลายรายการก็ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนด้วย ส่วนภาคการผลิต บริการ ก็มีการยื่นคำขอเข้ามาเป็นระยะ
“มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ Thailand Plus Package ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มสำหรับกิจการเป้าหมายที่อยู่นอกกรุงเทพฯ ได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคล 5-8 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ถึง 5 ปี กรณียื่นขอรับการส่งเสริมในปี 2563 และลงทุนจริงไม่น้อยว่า 1,000 ล้านบาทในปี 2564 นั้นมีส่วนทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมาย 7.5 แสนล้านในปีนี้”
ฝันเป้าลงทุนทะลุล้านล้าน
“ตอบยากว่าโอกาสการยื่นคำขอการลงทุนปีหน้าจะทะลุล้านล้านบาท เพราะตั้งแต่ก่อตั้งบีโอไอมายอดทะลุล้านมีปีเดียวคือปี 2557 แต่ครั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ การขยายต้องมีกำลังผลิตเพียงพอสอดคล้องกับตลาดโลก ซึ่งปี 2563 น่าจะดีขึ้น เราดึงบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาเป็นคลัสเตอร์ ทั้งค่ายรถ ซัพพลายเชน สตาร์ตอัพ อิเล็กทรอนิกส์”
“ขณะนี้ไทยได้เปรียบในการดึงนักลงทุนทุกด้าน ทั้งโลเกชั่นและแรงงานคุณภาพ ที่ผ่านมาพูดกันว่าจะไปเวียดนาม แต่สุดท้ายเขาก็เลือกประเทศไทย ยิ่งธนาคารโลกจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease Doing Business 2020) ขึ้นมาในอันดับที่ 21 จาก 27 ปีที่แล้ว ยิ่งทำให้นักลงทุนสนใจไทยมากขึ้น”
กองทัพมดทำการตลาดทั่วโลก
นางสาวดวงใจกล่าวด้วยว่า บีโอไอทำการตลาดผ่านการโรดโชว์มาตลอด และจะเร่งทำมากขึ้น ทั้งแบบกองทัพมด และขายตรงในยุโรป จีน ไต้หวัน ในช่วง 7-11 พ.ย. 62 จะโรดโชว์ญี่ปุ่น เคาะประตูนักลงทุนฮอกไกโด และ 25-26 พ.ย.จะไปเกาหลีใต้ ร่วมงาน Invest ASEAN 2019 โดยบีโอไอจับมือกับหน่วยงานอื่นร่วมประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ในฐานะประเทศที่มีศักยภาพในการลงทุนภายใต้แนวคิด “Build on Diversity : Invest in Thailand”
“ต้นทุนการผลิตที่จีนสูงขึ้น เป้าหมายนักลงทุนจะย้ายฐานไปไทยอยู่แล้ว การมีเทรดวอร์เป็นแค่ตัวเร่ง” เลขาธิการบีโอไอ กล่าวและว่า
การชักจูงนักลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย บีโอไอมุ่งทำการตลาดทั้งสหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ในคลัสเตอร์อากาศยาน, เครื่องจักรกล, ไบโอเทคโนโลยี, การแพทย์สมัยใหม่ และการเกษตรบริการ