คณิศ ลุ้น “การบินไทย” เคาะศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาเข้าแผนฟื้นฟู ม.ค. 64

คณิศ ลุ้น “การบินไทย” เคาะศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาเข้าแผนฟื้นฟู ม.ค. 64

อัปเดตล่าสุด 22 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 521 Reads   

EEC ลุ้นแผนฟื้นฟู “การบินไทย” ม.ค. 64 ยอมบรรจุศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา 200 ไร่ได้ไปต่อ เผย 3 ปีลงทุนใน EEC กว่า 900,000 ล้านบาท เร่งอีก 800,000 ล้านบาท เน้น New S-Curve ให้ได้ ด้านสนามบินอู่ตะเภามูลค่า 290,000 ล้านบาท สตาร์ทเฟส 3 เริ่ม EHIA เปิดบริการปี 2568

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ เลขาฯ EEC) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง เนื้อที่ 6,500 ไร่ ว่า ขณะนี้โครงการซึ่งมีมูลค่า 290,000 ล้านบาท ได้เข้าสู่ระยะที่ 3 (ปี 2563) คือการเริ่มลงมือจริง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) และจะเปิดให้บริการปี 2567

ขณะที่ โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่จะเกิดขึ้นในบริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดย MRO มีพื้นที่ 500 ไร่ มูลค่า 30,000 ล้านบาท ซึ่ง 200 ไร่เป็นส่วนที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TG มีแผนทำ MRO

ซึ่งขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟู ทาง EEC ได้เสนอให้นำเรื่องของ MRO เข้าไปบรรจุในแผนฟื้นฟูด้วย ซึ่งทางการบินไทยรับปากจะนำ MRO เข้าเป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟู โดยในช่วงเดือน ม.ค-ก.พ. 2564 ทางผู้ทำแผนฟื้นฟูจะมีการเคาะว่า MRO จะถูกบรรจุในแผนด้วยหรือไม่

รวมถึงจะเคาะแนวทางการทำ MRO โดยมี 3 ทางเลือก คือ 1.การบินไทยร่วมทุนกับแอร์บัส 3.การบินไทยลงทุนเองแต่ใช้เทคโนโลยีแอร์บัส 3.หาผู้ร่วมทุนใหม่

ส่วนพื้นที่ MRO อีก 300 ไร่ จะเปิดให้เอกชนผู้ที่สนใจรายอื่นเข้ามาลงทุน ซึ่งไม่ยากเนื่องจากเกือบทุกสายการบินที่บินลงสนามบินอู่ตะเภา จะต้องมีศูนย์ซ่อมด้วย มิฉะนั้นหากเกิดเครื่องขัดข้องเครื่องบินก็ไม่สามารถบินกลับได้

สำหรับภาพรวมโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการสำคัญ (EEC Project List) ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2560-2563 มีการลงทุนประมาณ 900,000 ล้านบาท เป็นส่วนที่มาจาก 3 โครงการ รัฐร่วมลงทุนกับทางภาคเอกชน (PPP) ไปแล้วคือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 240,000 ล้านบาท สนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 290,000 ล้านบาท

ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 มูลค่า 55,000 ล้านบาท ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 370,000 ล้านบาทรวมอยู่ด้วย จากเป้าหมายการลงทุนทั้งหมด 5 ปี (2560-2565) อยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท

โดยเหลืออีกประมาณ 800,000 ล้านบาท เป็นส่วนของโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) และการลงทุนจากภาคเอกชนโดยเฉพาะอุตสาหกรรม New S-Curve เช่น 5G อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอากาศยาน การแพทย์