หัวเว่ยทุ่ม 700 ล้าน ปั้นไทยฮับ "คลาวด์" อาเซียน

อัปเดตล่าสุด 27 ก.ย. 2561
  • Share :

ยังเดินหน้าลงทุนในไทยต่อเนื่องสำหรับ "หัวเว่ย เทคโนโลยี่" ล่าสุดเปิดตัว "หัวเว่ย คลาวด์ ไทยแลนด์" หลังได้รับใบอนุญาตธุรกิจบริการคลาวด์ในไทยจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยจะเป็นบริการคลาวด์พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นรายแรก 

"เจิ้ง เย่หลาย" ประธานบริหารกลุ่มธุรกิจคลาวด์ บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ เปิดเผยว่า ได้ลงทุนกว่า 700 ล้านบาท เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รองรับความต้องการของลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่รวมสิงคโปร์และอินโดนีเซีย) เพื่อเชื่อมต่อกับคลาวด์อื่น ๆ ของหัวเว่ยทั่วโลก โดยเน้นเจาะกลุ่มองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะบรรดาโอเปอเรเตอร์ต่าง ๆ  

"ลงทุนในเฟสแรก 700 ล้านบาท แต่ในเฟสต่อไปช่วง 2-3 ปีนี้ ยังต้องดูความต้องการของผู้ใช้ แต่หัวเว่ยมีความตั้งใจจะลงทุนในไทยแน่นอน และยังไม่วางเป้ารายได้หรือต้องคืนทุนเมื่อไหร่ เพราะไม่อยากให้กดดันการทำงาน เนื่องจากเป็นการลงทุนในระยะยาว แต่ประเทศไทยมีศักยภาพ และสามารถที่จะเป็นฮับในการให้บริการกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายรายที่ส่งสัญญาณว่าสนใจ"

สำหรับจุดแข็งของหัวเว่ยคือ ความรวดเร็วในการถ่ายโอนข้อมูล อีกทั้งมีบริษัทพันธมิตรกว่า 6,000 ราย ในการจัดหาโซลูชั่นแบบครบวงจรกว่า 120 ประเภท ใน 16 หมวด และโซลูชั่นมากกว่า 200 แบบ ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม โดยบริการคลาวด์ของหัวเว่ยเฉพาะตลาดจีนในปีที่ผ่านมาเติบโตถึง 7 เท่า  ขณะที่คาดการณ์ตลาดคลาวด์ไทยจะสูงถึง 48,000 ล้านบาท ในปี 2564 และภายในปี 2568 กว่า 85% ของทุกอุตสาหกรรมจะทำงานบนคลาวด์คลาวด์จึงเป็นจุดเปลี่ยนเพื่อให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติ

"เทคโนโลยีที่จะมุ่งพัฒนาต่อคือ AI (ปัญญาประดิษฐ์) โดยพยายามจะทำให้ AI ใช้ได้ง่ายสำหรับองค์กร เป็น EI (enterprise intelligent) เพราะที่ผ่านมาใช้งานยาก ต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์มาช่วย"  ขณะเดียวกัน ได้เดินหน้าร่วมทดสอบ 5G ในประเทศไทยด้วย "พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ระบุว่า ได้มีการหารือกับหัวเว่ยเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G โดยจะเปิดทดสอบในพื้นที่โครงการดิจิทัลพาร์ค ศรีราชา มีผู้เข้าร่วม 4 กลุ่ม ได้แก่

 1.ผู้จัดสรรคลื่นคือ กสทช.
 2.ผู้จัดหาอุปกรณ์ 5G เช่น หัวเว่ย
 3.ผู้ให้บริการ เช่น ISP และ
 4.ผู้ที่จะนำ 5G มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น โรงพยาบาล 

โดยทั้งหมดจะใช้เวลาในช่วงนี้เพื่อทดสอบระบบ เพื่อให้เข้าใจ 5G มากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน และได้ทดสอบแพ็กเกจที่จะใช้ก่อนลงทุน ก่อนที่ประเทศไทยจะเปิดให้บริการ 5G ในปี 2563

"ดีอีพร้อมแล้ว หัวเว่ยพร้อมเมื่อไร จะจูงมือไปทดสอบได้เลย"