สศอ. ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม ขับเคลื่อนอุตฯ หุ่นยนต์ตามโร้ดแมป คาดเปิดให้บริการกลางปีนี้

อัปเดตล่าสุด 30 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 500 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร พัฒนาแพลตฟอร์ม (Platform) เชื่อมโยงผู้ประกอบการ ธนาคาร และผู้ให้บริการออกแบบระบบ (System Integrator: SI) พร้อมทั้งรวบรวมมาตรการส่งเสริมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ในจุดเดียว (One Stop Service)  คาดว่าจะดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการกับผู้ประกอบการ ภายในกลางปี 2562

นายณัฐพล  รังสิตพล  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า  สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ หน่วยงานโรโบติกส์ เอไอ แอนด์ อินเทลลิเจนท์ โซลูชั่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE)  ในการเริ่มต้นการพัฒนาแพลตฟอร์มผ่านโครงการการพัฒนา Cyber Industrial Transformation Platform พร้อมส่งเสริม SMEs ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automation) เพื่อการยกระดับผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่  ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและแก้ไขกระบวนการที่เป็นปัญหา (Pain points) ของผู้ประกอบการในปัจจุบัน  และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจผู้ให้บริการออกแบบระบบ (System Integrator: SI)  โดยพัฒนาระบบแพลตฟอร์มออนไลน์เชื่อมโยงผู้ประกอบการ ธนาคาร และ ผู้ให้บริการออกแบบระบบ พร้อมทั้งรวบรวมมาตรการส่งเสริมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ในจุดเดียว (One Stop Service) เป็นครั้งแรก ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเสนอความต้องการเข้าปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญ และหาแนวทางการพัฒนาธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขัน  ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องมีการพัฒนาตนเอง ในทุก ๆ ด้าน เพื่อสร้างเสริมศักยภาพ ความสามารถ รองรับโอกาสที่จะมาถึงและสร้างการเติบโตในอนาคต

ปัญหา (Pain points) ของผู้ประกอบการในปัจจุบัน  จะได้รับการแก้ไขตั้งแต่การขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ การขอสินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องจักรจากธนาคาร การเลือกหาผู้ให้บริการออกแบบระบบที่มีศักยภาพการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยหุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น  โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ปรับปรุงกระบวนการที่เป็นคอขวด (Bottle neck) และบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งในส่วนของลูกค้าผู้ที่มีความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Demand side) ผู้ให้บริการออกแบบระบบ System Integrator: SI (Supply side) สถาบันทางการเงิน ธนาคาร หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ อาทิ BOI กระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  (CoRE) เป็นต้น

นายณัฐพล ยังกล่าวอีกว่า การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “กลไลการขับเคลื่อน Industrial Transformation Platform” ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และอัตโนมัติของประเทศ และเป็นการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน โดยปรับปรุงกระบวนการทำงานจากเดิมที่แต่ละหน่วยงานทำงานแบบแยกส่วน เปลี่ยนผ่านเข้าสู่การทำงานบน Cyber Platform ร่วมกันในรูปแบบคล้ายกับแพลตฟอร์มของตลาดออนไลน์ เช่น LAZADA หรือ AMAZON แต่เปลี่ยนจากการขายสินค้าเป็นการให้บริการของผู้ให้บริการออกแบบระบบ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศไทยสามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และช่วยสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐให้บรรลุเป้าหมาย ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มและขับเคลื่อนการดำเนินงานของแพลตฟอร์มให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว คาดว่าจะดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการกับผู้ประกอบการ ภายในกลางปี 2562 นี้