ฉลอง 10 ปี อุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น สานต่อนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีสองประเทศ

อัปเดตล่าสุด 31 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 809 Reads   

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 กระทรวงอุตสาหกรรม ฉลองครบรอบ 10 ปี สานความสัมพันธ์ ความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งร่วมกันสร้างความร่วมมือด้านการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ 4.0 พัฒนาบุคลากร เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ และการสร้างโอกาสทางการตลาด ดึงผู้ประกอบการญี่ปุ่นลงทุนอีก 500 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท พร้อมสร้างความเชื่อมั่น ผุดมาตรการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบใหม่ ดึงนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและยาวนานมากว่า 130 ปี ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ ที่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2562 ประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นอันดับ 1 ของจำนวนโครงการ สำหรับการลงทุนต่างชาติทั้งหมด และประเทศญี่ปุ่นยังเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทย ซึ่งมีมูลค่าการค้ากว่า 1.94 ล้านล้านบาท ปัจจุบันมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย จำนวนกว่า 6,000 กิจการ
 
กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีบทบาทที่สำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมในประเทศเป็นอย่างมาก โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ริเริ่มพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (The Japan External Trade Organization : JETRO) จัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) ขึ้น และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 จากนั้นก็ได้พัฒนาและขยายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และหน่วยงานเอกชน รวมจำนวน 29 แห่ง รวมลงนาม 32 ฉบับ ซึ่งได้ดำเนินงานมาครบ 10 ปีแล้ว

โต๊ะญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการสร้างสัมพันธ์ ประสานงานการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ สร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น เกิดเป็นโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยสามารถสรุปได้ดังนี้ 

1) ด้านการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ 4.0 ภายใต้โครงการ Connected Industries โครงการสาธิตการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น (Lean Automation System Integrators: LASI Project) การยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ - ประเทศไทย หรือ MIE-Thailand innovation Center เป็นต้น 


2) ด้านการพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานในองค์กรของประเทศญี่ปุ่น การจัดทำโครงการ Re-Skill เพิ่มพูนทักษะการทำงานในด้านการพัฒนา SMEs ทุกมิติ 

3) ด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ โดยการการจัดงาน Business Networking การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การประชุมเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมในลักษณะ “การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” หรือ OTAGAI Forum ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นที่มีความร่วมมือจำนวน 21 แห่ง 

4) การสร้างโอกาสทางการตลาด การจัดงาน Business Matching การพาผู้ประกอบการไปออกงานแสดงสินค้า ที่ได้รับการสนับสนุนพื้นที่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อาทิ งานแสดงสินค้านวัตกรรมขององค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) รวมถึงงานแสดงสินค้าของรัฐบาลจังหวัดต่าง ๆ อาทิ จังหวัดไซตามะ จังหวัดนากาโนะ และกรุงโตเกียว เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กสอ. ได้รวบรวมตัวเลขการลงทุน จากจังหวัดที่ได้มีการลงนามความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 21 จังหวัด จากทั้งหมด 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีจำนวนบริษัทเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการลงทุนแบบ FDI แบบ Joint Venture และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้น จากเดิมมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นมาลงทุน 2,100 บริษัท เพิ่มขึ้นอีก 500 บริษัท รวมเป็น 2,600 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท
 
“กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งหวังยกระดับสู่ไทยแลนด์ 4.0 และพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย s-curve อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นที่จะต่อยอดศักยภาพและความสามารถการแข่งขันของประเทศให้มีความพร้อมตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุน รวมถึงการคิดค้นรูปแบบมาตรการการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ทั้งนี้เชื่อว่า โต๊ะญี่ปุ่น จะเป็นกลไกที่สำคัญในการเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ในลักษณะ Win-Win ระหว่างทั้งสองประเทศให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายสุริยะ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายอัตซึชิ โตโยนากะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (SMRJ) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสที่ได้มารับตำแหน่งประธาน SMRJ คนล่าสุด ขอยืนยันและให้คำมั่นสัญญาว่าจะเดินหน้าสานต่อความร่วมมือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถในการส่งเสริมให้เกิดการสร้างฐานผลิตในประเทศไทย รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศต่อไป
 
ด้าน นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางญี่ปุ่นเองนั้น พร้อมที่จะให้การส่งเสริมและสนับสนุนทั้งด้านวัสดุ สิ่งทอ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ และเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในโครงการ Eastern Economic Corridor หรือ โครงการ EEC ที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก