"บิ๊กไบก์"กระหึ่มโตทะลุ2ดิจิต บีเอ็มแตก"สกูตเตอร์"ชนแบรนด์ญี่ปุ่น
บิ๊กไบก์โตไม่หยุด 8 เดือนขยายตัวกว่า 20% "ไทรอัมพ์" มั่นใจสิ้นปีกวาดลูกค้ากว่า 3 พันราย ฟันแชร์ 45% "บีเอ็มฯ มอเตอร์ราด" ส่งอีก 3 รุ่นใหม่กระทุ้งตลาด แตกเซ็กเมนต์สกูตเตอร์ปะทะค่ายญี่ปุ่น
นายจักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า แผนรุกตลาดของไทรอัมพ์ช่วงที่ผ่านมาถือตรงตามเป้า สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดีเกินคาด ส่งผลให้ 9 เดือนไทรอัมพ์มียอดจดทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบกราว 1,927 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 44% เป็นผู้นำในตลาด และคาดว่าถึงสิ้นปีนี้ยังคงรักษาสัดส่วนผู้นำเอาไว้ได้ตลอด
"เรายังเน้นผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโมเดิร์นคลาสสิก, กลุ่มแอดเวนเจอร์แอนด์ทัวริ่ง และกลุ่มเน็กเกดโรดสเตอร์ ซึ่งครอบคลุมความต้องการลูกค้าได้ครบถ้วน" ทั้งหมดเป็นผลสำเร็จจากการขยายโชว์รูมและศูนย์บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และอีเวนต์ขายรถ ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพบริการหลังการขาย
ด้านนายมาร์คุส เกลเซอร์ ผู้อำนวยการบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมบิ๊กไบก์ที่มีขนาดตั้งแต่ 250 ซีซีขึ้นไปถือว่าโตเพิ่มขึ้นมาก 8 เดือนโตถึง 20% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด โต 18% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มียอดขายไปแล้ว 1,255 คัน
"เชื่อว่าปีนี้ตลาดรวมน่าจะโตมากกว่า 2 หลักแน่นอน" รถรุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบีเอ็มฯได้ส่งรถจักรยานยนต์ 3 รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ตระกูล GS รุ่น F 750 GS จับกลุ่มลูกค้าเอ็นดูโร่ เครื่องยนต์ 2 สูบ 853 ซีซี 77 แรงม้า ราคา 4.99-5.35 แสนบาทรุ่น F 850 GS เครื่องยนต์ 2 สูบระบายความร้อนด้วยน้ำ 853 ซีซี 95 แรงม้า ราคา 5.75-6.15 แสนบาทและสกูตเตอร์ C400X ให้กำลัง 34 แรงม้า ระบบเกียร์ CVT เป็นรุ่นลิมิเต็ดมีเพียง 26 คันเท่านั้น จำหน่ายในราคา 3.99 แสนบาท นำเข้ามาจากจีนพร้อมส่งมอบทันที ปัจจุบันบีเอ็มดับเบิลยูมีเครือข่าย 14 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น กทม. 7 แห่ง และต่างจังหวัด 7 แห่ง มีแผนจะเพิ่มเครือข่ายการจัดจำหน่ายอีก 2 แห่งในระยเวลาอันใกล้นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์บิ๊กสกูตเตอร์ในบ้านเรา ปัจจุบันมี 2 ค่ายหลัก ๆ ที่ทำตลาด ได้แก่ ค่าย เอ.พี.ฮอนด้า และค่ายไทยยามาฮ่า ซึ่งสัดส่วนการขายรถในกลุ่มนี้ไม่สูงมาก เนื่องจากเป็นรถที่ถูกวางตำแหน่งเป็นสกูตเตอร์พรีเมี่ยมราคาขายค่อนข้างสูง อาทิ ฮอนด้า ฟอร์ซ่า เครื่องยนต์ 279 ซีซี หัวฉีด PGM-FI 4 ระบายความร้อนด้วยน้ำ มาพร้อมระบบ Honda Selectable Torque Control ผลิตจากโรงงานในประเทศไทย ทำให้มีความได้เปรียบด้านราคา 169,000 บาท
ขณะที่ค่ายไทยยามาฮ่านั้นจะเป็นสปอร์ตออโตเมติกพรีเมี่ยม รุ่นเอ็กซ์แม็กซ์ 300 เครื่องยนต์บลูคอร์ 300 ซีซี พร้อมด้วยฟังก์ชั่นสุดสมาร์ท แม้จะผลิตจากโรงงานยามาฮ่า อินโดนีเซีย แต่ยังคงมีความได้เปรียบจากภาษีอาฟต้า 0% ราคา 168,000 บาท ซึ่งหากจะเทียบในแง่ของขนาดเครื่องยนต์แล้ว ทั้งฮอนด้า ฟอร์ซ่า และยามาฮ่า เอ็กซ์แม็กซ์นั้น อาจจะยังไม่ใช่คู่แข่งทางตรงกับบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด C400X ทั้งขนาดเครื่องยนต์และราคานั้นอาจจะไม่ใช่คู่แข่งโดยตรง แต่ก็น่าจะมีลูกค้าที่อยากยกระดับ ซึ่งทั้งฮอนด้าและยามาฮ่าคงไม่ปล่อยพื้นที่ให้บีเอ็มฯ แน่นอน