ส.อ.ท. จัดตั้ง “สถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น (TJIC)” แต่งตั้ง "จิระพันธ์ อุลปาทร" นั่งประธาน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดตั้ง “สถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Japanese Industrial Cooperation Institute :TJIC)” เน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย และเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างสองประเทศ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานมากกว่า 130 ปี มีการพัฒนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มีการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากในประเทศไทยตลอดระยะกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเจริญของภาคอุตสาหกรรมและการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า ประเทศญี่ปุ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างสภาอุตสาหกรรมฯ กับประเทศญี่ปุ่นและนักลงทุนญี่ปุ่นได้พัฒนาในหลากหลายมิติ โดยในส่วนภาคเอกชนนั้นได้มีการหารือกับสมาคมนักธุรกิจชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นทั้ง Japan Business Federation (Keidanren) และ Kansai Economic Federation (Kankeiren) เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะ Kankeiren ได้จัดตั้งสำนักงาน Asia Business Creation Platform ที่กรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่สภาอุตสาหกรรมฯ ด้วย นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ยังได้ร่วมมือกับ Japanese Chamber of Commerce (JCC) ในการนำเสนอข้อคิดเห็นและข้อกังวลต่าง ๆ ของนักธุรกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ
การพัฒนาอย่างต่อเนื่องดังกล่าวสภาอุตสาหกรรมฯ จึงเห็นสมควรจัดตั้ง “สถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Japanese Industrial Cooperation Institute :TJIC)” ขึ้น โดยแต่งตั้งให้นายจิระพันธ์ อุลปาทร เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมความร่วมมือและเป็นศูนย์กลางของสภาอุตสาหกรรมฯในการติดต่อประสานงาน ส่งเสริมการค้าการลงทุน แลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชนของญี่ปุ่น รวมทั้งผลักดันประเด็นต่างๆเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น
นายจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่นกล่าวว่า ดังที่ทราบดีอยู่แล้ว นักลงทุนญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในการลงทุนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมฯได้มีการพบปะกับหน่วยงานและองค์กรจากประเทศญี่ปุ่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอยู่ตลอดเวลา โดยมีการหารือถึงแนวทางในการส่งเสริมการลงทุน การค้า นวัตกรรม และเทคโนโลยี ร่วมกัน ปัจจุบันนับได้ว่าอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นกระจายอยู่ในภาคการผลิตต่างๆมากมายหลากหลายสาขา เป็นซัพพลายเชนที่มีบทบาทสำคัญของการผลิตในประเทศและการส่งออก ทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยจำนวนสูงมาก
สภาอุตสาหกรรมฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จำเป็นต้องจัดตั้งสถาบันเพื่อกำกับดูแลความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะ และเป็นการสานต่อความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆของประเทศญี่ปุ่น โดยทำหน้าที่ดูแลมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจเป็นช่องทางหารือระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศ และเป็นหนึ่งในกลไกในการยกระดับสู่ไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve และ New S-Curve อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิควิศวกรรมเพื่อรองรับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรม S-Curve ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย
สำหรับภาระกิจเร่งด่วนหลังการจัดตั้ง TJIC นั้น จะมุ่งผลักดันการลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาที่ไทยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยเช่นกัน โดย TJIC จะเข้าไปทำงานใกล้ชิดกับ JJC และ JETRO เพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนญี่ปุ่นตัดสินใจเลือกไทย โดยทั่วไปแล้วบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่จะมีความต้องการพิเศษ อย่างเช่นด้านบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นโอกาสอันดีจากนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ส่งเสริมให้เอกชนถอนการลงทุนในจีน ย้ายฐานการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงกลับประเทศ และอีกส่วนย้ายฐานมายังอาเซียน ซึ่งไทยเองเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ที่ได้รับการพิจารณาอยู่แล้ว