สวทช. ร่วม พันธมิตร จัดสัมมนาใช้ระบบออโตเมชันในกระบวนการผลิต หนุนผู้ประกอบการอาหารสู่ Thailand 4.0

อัปเดตล่าสุด 17 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 435 Reads   

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) และเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ร่วมด้วยเครือข่ายพันธมิตร จัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “Smart Food Factory 4.0 (อุตสาหกรรมอาหารในยุค 4.0)” เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ณ อาคารซอฟต์แวร์พาร์ค จังหวัดนนทบุรี เพื่อพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยมีผู้ประกอบการ SME ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหารและที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานกว่า 200 คน

ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สวทช. กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการ Smart Food Factory 4.0 หรืออุตสาหกรรมอาหารในยุค 4.0 ในครั้งนี้ ซอฟต์แวร์พาร์ค ร่วมมือกับ เมืองนวัตกรรมอาหาร และหน่วยงานพันธมิตร จัดขึ้น เพื่อให้ความรู้ในเรื่องการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ด้วยการผลักดันเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ (Automation) ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหารมากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมาตลอด 23 ปีของซอฟต์แวร์พาร์ค มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมาอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่เข้มแข็ง และด้วยนโยบายการทำงานที่มุ่งเน้นขอบข่ายที่กว้างขวางขึ้น ทั้งในด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (ARI: Automation, Robotics and Intelligent System) เพื่อผลักดันให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารในยุค 4.0 โดยการสัมมนาครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความรู้ที่ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิต สร้างความร่วมมือ พร้อมได้เห็นตัวอย่างและแนวทางในการพัฒนา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ต่อไป

ด้าน ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลก ที่มีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่า 30% ทั่วโลก ประกอบกับสถานการณ์โลกร้อน (climate change) ทำให้ทั่วโลกสามารถผลิตอาหารได้ลดลง และยังมีพื้นที่ในการปลูกและผลิตอาหารลดลงไปด้วย รวมถึงแรงงานที่มีค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เหตุนี้ อุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถนำเข้าแรงงานได้ในยุคสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ฉะนั้น การปรับตัวด้วยกระบวนการผลิตเป็น semi-automation หรือกึ่งอัตโนมัติ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและมีภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะอุตสาหกรรมอาหารมีสัดส่วนมากถึง 25% ของอุตสาหกรรมทั้งประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ระบบออโตเมชันมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม

“สวทช. มีกลไกการสนับสนุนภาคเอกชน และแพลตฟอร์มหลายอย่าง เช่น ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ที่มีโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) รวมถึงในอนาคตเร็ว ๆ นี้จะพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ทางด้านออโตเมชันที่จะรองรับอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งนับเป็นทั้งโอกาสและวิกฤตของประเทศในคราวเดียวกัน” ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ กล่าว