“เอไอเอส” เก็บแต้มศึก 5G ผนึก “เอสซีจี-ม.อ.” โชว์ยูสเคสแรก
อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันประมูลคลื่น 5G กันแล้ว แม้ค่ายมือถือจะไม่อยากให้มีการประมูลเร็วนัก เพราะเพิ่งควักกระเป๋าจ่ายค่าคลื่น และลงทุน 4G ไปยังไม่ทันไร แต่ทุกราย โดยเฉพาะ “เอไอเอส และทรูมูฟ เอช” ต่างเข้าสู่โหมดเตรียมความพร้อมสำหรับการกดปุ่มเปิดบริการ 5G กันเต็มพิกัดแล้ว เพราะรู้ดีว่ายังไงก็คงต้องไปต่อ ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้มีการลงทุนภายในปีนี้ ภายใต้การขับเคลื่อนผลักดัน โดย “กสทช.”
ทุกบริษัทไม่ว่าจะเป็น “ทรูมูฟ เอช, ดีแทค, แคท, ทีโอที และเอไอเอส” ไปรับซองเงื่อนไขการประมูล (เรียงตามลำดับเวลาที่ไปรับ) เพื่อรอยื่นซองในวันที่ 4 ก.พ. และคาดว่าจะเข้าประมูลโดยพร้อมเพรียงกันในวันที่ 16 ก.พ. 2563 นี้
อย่างที่รู้กัน ในบรรดาผู้ที่ไปรับซองประมูล ที่แอ็กทีฟสุดเป็นมวยคู่เอก “เอไอเอส-ทรูมูฟ เอช” แข่งกันทดลองทดสอบเทคโนโลยีร่วมกับพาร์ตเนอร์ และจัดโชว์เคสเพื่อประกาศความพร้อมในการให้บริการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว และก่อนจบพีเรียดที่ “กสทช.” อนุญาตให้มีการใช้คลื่นเพื่อนำมาทดลองทดสอบ 5G “เอไอเอส” ได้โชว์การนำ 5G ไปใช้งานได้จริง (use case) ในภาคอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกด้วย
ยูสเคสแรก 5G ไทย
โดยร่วมกับ “เอสซีจี” และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการพัฒนารถยกต้นแบบให้สามารถควบคุมระยะไกลบนเครือข่าย 5G ระหว่างเอสซีจี สำนักงานใหญ่ที่บางซื่อ กรุงเทพฯ ไปยังโรงงานผลิตถุงปูนซีเมนต์ของเอสซีจีที่สระบุรี (130 กม.) ให้ใช้จริงได้ และลงนามบันทึกข้อตกลงในการร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่าย 5G ในโครงการอื่น ๆ รวมถึงร่วมกันพัฒนาบุคลากรสร้าง 5G อีโคซิสเต็ม ยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่ 4.0 ด้วย
“อรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม” ผู้อำนวยการโครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี กล่าวว่า จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ มีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยทำงาน นำเอไอมาช่วยในการตัดสินใจในหลายเรื่องจะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจทั่วโลกต่างมีความตื่นตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่พัฒนาสู่ 4.0 นำเทคโนโลยีออโตเมชั่นและดิจิทัลมาปรับปรุงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น
พลิกอุตสาหกรรมสู่ 4.0
เช่นกันกับ “เอสซีจี” ที่ปรับตัวต่อเนื่องโดยให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งการผลิต และการให้บริการ เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้าและยกระดับการผลิตเข้าสู่ระดับเวิลด์คลาส มี
“ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” องค์กร โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานำเทคโนโลยีมาใช้เช่น mechanization, automation and robotics (MARS) และ industry 4.0 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในทุกขั้นตอน ยกระดับโรงงานผลิตสู่โรงงานอัจฉริยะ (smart factory) ใช้เงินลงทุนไปกว่า 800 ล้านบาท (9 เดือนแรกปี 2562) จนออกมาเป็นโซลูชั่นต่าง ๆ เช่น การแจ้งเตือนเครื่องจักรก่อนซ่อมบำรุง, การใช้หุ่นยนต์ในห้องปฏิบัติการด้านการตรวจวัด, การทำระบบจ่ายปูนอัตโนมัติ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ต่อยอดให้เกิดการปรับปรุง รวมถึงนวัตกรรมใหม่ให้ตอบโจทย์ลูกค้า
“เราคุยกับเอไอเอสและ ม.อ.ตั้งแต่ปีที่แล้ว พบว่าวิสัยทัศน์ตรงกันที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้แข่งขันได้ เรามีประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมมานานแล้ว ขณะที่เอไอเอสมีจุดแข็งเรื่องเครือข่าย ร่วมกับ ม.อ.ที่มีบุคลากรและหน่วยงานที่ดูเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 จึงสามารถนำยูสเคสมาพัฒนาบน 5G ได้เร็ว โดยเลือกพัฒนาระบบควบคุมรถยกจากระยะไกล เพราะมีการใช้ในโรงงานต่าง ๆ เยอะ ใช้เวลาพัฒนาร่วมกันประมาณ 1 เดือน ถือว่าเร็วมากและประสบความสำเร็จมาก ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการนำ 5G มาใช้ในอุตสาหกรรม”
ใช้ 5G ทำงานยากลดเสี่ยง “คน”
ผู้บริหาร “เอสซีจี” มองว่า 5G เป็นเทคโนโลยีที่ดี ใช้งานได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่จะนำมาใช้อย่างไร ด้วยความสามารถด้าน
“สปีดและความเสถียร” จึงเหมาะนำมาใช้ในงานยาก ๆ ที่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงพื้นที่ เช่น การทำเหมืองปูนอาจนำมาประยุกต์บังคับเครื่องจักรกลหนักเช่น รถเจาะ พนักงานไม่ต้องอยู่ในเหมือง หรือนำมาวิเคราะห์ข้อมูลวิดีโอเพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพในโรงงาน รวมถึงใช้ 5G บังคับรถรื้อวัสดุทนไฟในเตาเผาซีเมนต์ และนำมาใช้พัฒนาทักษะพนักงาน โดยใช้ร่วมกับ AR/VR ทำให้ไม่ต้องไปอยู่ที่หน้างานจริงก็ฝึกประสบการณ์ได้ เป็นต้น
“โรงงานบรรจุถุงบรรจุปูน 90% เป็นออโตเมชั่น เหลือส่วนที่เป็นการขับรถยกที่ยังใช้พนักงาน ซึ่งเป็นงานที่หนักอาจเกิดความล้าในการขับรถได้ เพราะผลิตได้ 2 แสนถุงต่อวัน ถ้านำ 5G มาช่วยได้ก็จะเหนื่อยน้อยลง 5G เป็นเทคโนโลยีที่ดี เชื่อว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมได้ เราเองทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่เซอร์วิสโซลูชั่น เช่น มีสมาร์ทโฮม ซึ่ง 5G รองรับไอโอทีได้เยอะ ก็คิดว่าต่อไปจะนำมาใช้ด้วย”
จ่อเปิดตัวยูสเคสถัดไป
“วสิษฐ์ วัฒนศัพท์” หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสเริ่มทดสอบทดลอง 5G เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งของบริษัทและพนักงานจนสามารถประกาศได้ว่า เป็น 5G real networks ที่ผ่านมาทำงานร่วมกับอีโคซิสเต็มต่าง ๆ ไม่เฉพาะคนขายอุปกรณ์ แต่รวมถึงมหาวิทยาลัยและภาคส่วนต่าง ๆ ในการทดลองทดสอบบริการในหลายพื้นที่ มีโชว์เคสและเซตอัพ 5G เพลย์กราวนด์สนับสนุนผู้ที่มีไอเดียในการพัฒนา 5G แต่ความร่วมมือกับเอสซีจีและ ม.อ.ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการนำไปใช้งานได้จริง และจะไม่ใช่แค่ “ยูสเคส” เดียว
“ปีที่ผ่านมาเราทำหลายอย่าง ทั้งสร้างแพลตฟอร์ม พื้นที่ความรู้ต่าง ๆ แม้เราจะพร้อมแล้ว แต่ความท้าทายคือประเทศต้องพร้อมสำหรับ 5G จากที่ไปจัดโรดโชว์ในหลายพื้นที่ ถามว่า 5G ทำอะไรได้บ้าง ธุรกิจต่าง ๆ จะนำไปใช้อย่างไรได้บ้าง เป็นความยากที่จะอธิบาย แต่มีความสำคัญ เราจึงต้องมีเพลย์กราวนด์ มีโรดโชว์บ่อย ๆ และพูดซ้ำ ๆ”
รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการโครงการอินโนเวชั่น ฮับส์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีบุคลากรสร้างองค์ความรู้มายาวนาน เป็นบริการวิชาการ แต่ในครั้งนี้เป็นการนำมหาวิทยาลัยออกนอก “ห้อง” มาเจอของจริง เป็น “real application จริงที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 และ real case แรกของประเทศไทยในการใช้เทคโนโลยี
อ่านต่อข่าว:
ห่างกัน 950 ก.ม. ไม่ใช่ปัญหา! AIS โชว์ศักยภาพ 5G บังคับรถไร้คนขับจาก “กทม.” ให้วิ่งจริงที่ “หาดใหญ่”