สินค้าจีนในตลาด CLMV ที่มีผลกระทบต่อไทย

อัปเดตล่าสุด 29 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 653 Reads   

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2562 เวลา 10.30-12.00 น. ณ ห้อง Activity Hall หอการค้าไทย มีการวิเคราะห์เพื่อประเมินอิทธิพลจีนใน CLMV โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพรวมการค้าของอาเซียน การค้าของจีนใน CLMV ที่มีผลกระทบต่อไทย และการลงทุนของจีนใน CLMV  โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

การศึกษาครั้งนี้แบ่งกรอบการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ส่วน คือ เพื่อวิเคราะห์ประเทศอาเซียน ค้ากันเองภายในกลุ่มประเทศอาเซียน (Intra-ASEAN Trade) และวิเคราะห์ประเทศอาเซียนค้ากับประเทศอื่นนอกตลาดอาเซียน (Extra-ASEAN Trade) โดยแบ่งการ วิเคราะห์การค้าใน ASEAN10, ASEAN 6 และ CLMV ออกเป็น 3 ช่วง คือ 1. ช่วง 6 ปี ก่อนเปิด AEC (ปี 2004-2009) 2. ช่วง 6 ปี หลังเปิด AEC (ปี 2010-2015) และ 3. ช่วง 3 ปี หลังเปิด AEC (ตั้งแต่ ปี 2016)

ภาพรวมการค้าของอาเซียน

  • สำหรับในภาพรวมของการส่งออกภายในอาเซียน หลังเปิด AEC (ปี 2016-2018) ลดลงเล็กน้อยเมื่อพิจารณาแยกเป็นกลุ่ม ASEAN6 กับ CLMV พบว่า สัดส่วนการส่งออกภายในอาเซียนลดลงในกลุ่มประเทศ CLMV มากกว่ากลุ่ม ASEAN6
  • เมื่อเปรียบเทียบในช่วง 15 ปี (ปี 2004-2018) พบว่าสัดส่วนการนำเข้าภายในตลาดอาเซียนมีทิศทางลดลง ขณะที่อาเซียนนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 7.5 เท่า คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 277,009 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อาเซียนส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น 4.1 เท่า คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 194,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • ขณะเดียวกันในอาเซียน 6 ประเทศ (ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน) ก็มีสัดส่วนการนำเข้าจากตลาดอาเซียนลดลง โดยนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 5.9 เท่า คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 181,636 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อาเซียน6 ส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น 3.3 เท่า คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 136,317 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • สำหรับในส่วนของตลาด CLMV พบว่า ตลาดส่งออก-นำเข้าหลักของ CLMV คือ ตลาด Non-ASEAN ซึ่งในช่วง 15 ปี CLMV ส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น 22.3 เท่า คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 58,214 ล้านดอลลาร์สหรัฐและนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 17.6 เท่า คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 95,374 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การค้าของจีนใน CLMV ที่มีผลกระทบต่อไทย

  • ในกลุ่ม CLMV จีนมีส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามมากที่สุด รองมาได้แก่ เกาหลี และญี่ปุ่น ตามลำดับ สินค้าที่ไทยมีความเสี่ยงมากที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดเวียดนามให้กับจีนใน 5 ปีข้างหน้า คือ ด้าย ผ้าทอ ใยสังเคราะห์ ร็อกลอบสเตอร์และกุ้ง ไม้ แผงไม้ปูพื้น กระเบื้องไม้เหล็ก และส่วนประกอบ ข้าวโพด เครื่องหนัง เครื่องใช้สำหรับเดินทาง กระเป๋าถือ ชา กาแฟ และสินค้าอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยง เช่น แผ่นตะกั่ว เปลือกหม้อเก็บไฟฟ้า ผลไม้แห้ง เคมีภัณฑ์ เคมี คอนกรีต น้ำตาล มันสำปะหลัง แบตเตอรี่ ผลิตภัณฑ์จำพวกดอกไม้เพลิง ไม้ขีดไฟ
  • เช่นเดียวกับในเมียนมาจีนมีส่วนแบ่งตลาดในเมียนมามากที่สุด สินค้าที่ไทยมีความเสี่ยงมากที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดเมียนมาให้กับจีนใน 5 ปีข้างหน้า คือ เครื่องดื่ม สุรา ซอสและผงสำหรับปรุงอาหาร ผลิตภัณฑ์จากเหล็กหรือเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์ปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง เครื่องแต่งกาย เมล็ดธัญพืช และสินค้าอื่น ๆ ที่คาดว่าจะมีความเสี่ยง เช่น ยางใน และยางนอกสำหรับรถยนต์ กระดาษและกระดาษแข็ง เครื่องมือ เครื่องใช้ ของใช้ชนิดมีคม ช้อนและส้อม ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากปลา
  • ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในลาวมากที่สุด รองมาได้แก่ จีน และ เวียดนาม ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ไทยมีความเสี่ยงมากที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดลาวให้กับจีนใน 5 ปีข้างหน้า คือ ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง ยางสังเคราะห์ ยางนอก น้ำตาล ผ้าห่มและผ้าคลุมตัว ดอกไม้เทียม ใบไม้เทียม ผลไม้เทียม พรมและสิ่งทอปูพื้น
  • ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชามากที่สุด รองมาได้แก่ จีน และ สิงคโปร์ตามลำดับ สำหรับสินค้าที่ไทยมีความเสี่ยงมากที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดกัมพูชาให้กับจีนใน 5 ปีข้างหน้า คือ น้ำตาล ปูนขาวและซีเมนต์ ผ้าสิ่งทอสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม

การลงทุนของจีนใน CLMV
การลงทุน FDI ของจีน ใน CLMV ปี 2018 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2011 ร้อยละ 124 โดยกัมพูชามีอัตราการขยายตัวมากที่สุด เมื่อเทียบกับปี 2011 รองมา ได้แก่ ลาว และเวียดนาม ตามลำดับ ส่วนเมียนมา FDI ของจีนลดลงร้อยละ 30 สำหรับไทย ปี 2018 FDI ของจีนในไทยเพิ่มขึ้น 497 million US$ เมื่อเทียบกับปี 2011 และลดลงเมื่อเทียบกับปี 2017 ร้อยละ 4

ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะสำหรับธุรกิจไทยต้องปรับตัวผ่าน 3 ยุทธศาสตร์ คือ
1) ยุทธศาสตร์บินไปกับพญามังกร : ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมหรือธุรกิจจีน เพื่อขายให้กับประชาชนลาวหรือเป็นฐานการผลิตส่งออกไปประเทศที่สาม
2) ยุทธศาสตร์เสียบปลั๊ก : จังหวัดของไทยที่ใกล้กับเส้นทางรถไฟจีน-ลาวผ่านต้องรีบเข้าไปหาลู่ทางธุรกิจ
อาจจะสร้างศูนย์กระจายสินค้าของจังหวัด เช่น จังหวัดน่านใกล้กับสถานีรถไฟหลวงกรบางมากที่สุด
3) ยุทธศาสตร์ปลายซอย : ธุรกิจไทยจะเข้าไปช่วยเติมเต็มธุรกิจจีน เช่น ธุรกิจโรงแรมจีน และธุรกิจห้างสรรพสินค้าจีนจะมีสินค้าสำเร็จรูปไทยเข้าไปจำหน่าย