ขุนพลคนใหม่ เตรียมโมดิฟาย กสอ. สร้างระบบ SMEs Ecosystem ส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม

อัปเดตล่าสุด 28 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 797 Reads   

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดทัพใหม่ เตรียมปรับระบบการให้บริการผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ทั้งองคาพยพ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามนโยบาย Thailand 4.

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราในทุกด้าน ทั้งการทำงาน การเลือกซื้อสินค้า โดยเฉพาะการซื้อสินค้าออนไลน์ จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2561 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าสูงถึง 3,150,232.96 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจากนี้ไปจนถึงปี พ.ศ. 2565 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยคาดว่าเติบโตขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 22 จากมูลค่ามหาศาลนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงต้องมีการปรับตัว เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นหน่วยงานสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งสร้างโอกาสทางการตลาดและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ทั้งนี้ กสอ. จึงได้มีการปรับปรุงและสร้างระบบ SMEs Ecosystem หรือระบบนิเวศในการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีขึ้น โดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการเอื้อให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจและเข้าถึงบริการภาครัฐได้สะดวกและรวดเร็วกว่าเดิม เช่น การปรับการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลเซอร์วิส ทั้งการรับสมัครเข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการเข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ i-Industry ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน กสอ. มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกในระบบแล้วกว่า 400,000 ราย แบ่งเป็นรูปแบบบุคคลกว่า 320,000 ราย และรูปแบบกิจการกว่า 93,000 ราย สำหรับปี พ.ศ. 2563 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 2,000 กิจการ และบุคลากรภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและที่เกี่ยวข้องกว่า 20,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบดิจิทัลในการกำกับติดตามการดำเนินงานสำหรับโครงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี โดยผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานประกอบการ ซึ่งเรียกว่าระบบ Self-Declare โดยจะมีการเช็คอิน (Check-in) การเข้าปฏิบัติงานในสถานประกอบการของที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และรายงานผลแบบ Real time ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถประเมินผลการทำงานของที่ปรึกษาได้ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ นำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในสถานประกอบการมากขึ้น กสอ. จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและบริษัทสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ เพื่อให้เอสเอ็มอี ได้ลองเปิดใจเลือกใช้ Cloud Base Application ที่พัฒนาโดยสตาร์ทอัพไทย ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันที่ง่ายต่อการใช้งาน โดยช่วงแรกอาจให้มีการทดลองใช้ก่อน รวมถึงการเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับงานวิจัยที่มีอยู่จากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนกับเอสเอ็มอี เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจไปสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจ โดย กสอ. จะเชื่อมโยงข้อมูลกับธนาคาร หรือแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เพื่อใช้ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีรายนั้นได้อย่างเหมาะสม 

“กสอ. ต้องมีการจัดทัพใหม่ในการปรับการให้บริการ โดยเน้นการใช้ Digital Platform เพื่อสร้างระบบนิเวศให้ครบทั้งองคาพยพ ผลักดันให้เอสเอ็มอีเกิด Digital Transformation อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกัน บุคลากรของกรมจะต้องมีการ Transform ตนเอง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยจะมีการจัดอบรมเสริมองค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ให้บุคลากรอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้บุคลากร มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบริการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้นและรองรับการเป็น Smart Office ขณะเดียวกัน ในส่วนของระบบหลังบ้านจะมีการปรับปรุงให้มีความเสถียรและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ กสอ. ได้เร่งดำเนินการเพื่อยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัล” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย