GDP THAILAND 2020 - SME

สสว.เผย GDP SME ไตรมาส 2 หดตัว 17.2% คาดภาพรวมปี 63 หดตัว 9.5%

อัปเดตล่าสุด 15 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 438 Reads   

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขยาดย่อม (GDP MSME) ประจำไตรมาส 2/2563 พร้อมคาดการณ์ภาพรวมปี 2563 และแนวโน้มปี 2564

GDP MSME ไตรมาส 2/2563

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขยาดย่อม (GDP MSME) ไตรมาสที่สองของปี 2563 ลดลงร้อยละ 17.2 เป็นการลดลงต่อเนื่องจากที่ในไตรมาสแรกลดลงร้อยละ 3.1 โดยมีมูลค่า 1,445,258 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศเท่ากับร้อยละ 32.9 ลดลงจากสัดส่วนร้อยละ 34.9 ในไตรมาสที่แล้ว ส่งผลให้ GDP MSME ในครึ่งปีแรกของปี 2562 ลดลง 9.9% บาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศเท่ากับ ร้อยละ 34.0

ขณะที่ GDP ของประเทศตามการประกาศของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลดลงร้อยละ 12.2 โดยเมื่อพิจารณาตามขนาดวิสาหกิจ พบว่าวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด คือ ลดลงถึงร้อยละ 21.6 สำหรับวิสาหกิจขนาดย่อม (SE) และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ลดลงร้อยละ 17.9 และ 15.6 ตามลำดับ

ในส่วนของ GDP MSME ในสาขาธุรกิจที่ลดลงอย่างมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการบริการ ได้แก่ ธุรกิจบริการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ที่ลดลงถึงร้อยละ 50.2 ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ลดลงร้อยละ 38.9 และ ธุรกิจบริการด้าน ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ลดลงร้อยละ 46.0 ขณะที่ GDP MSME ในสาขาธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 9.8 และ 14.4 ตามลำดับ

“สาเหตุที่ GDP MSME ไตรมาสที่สองของปี 2563 ลดลงมากกว่าภาพรวมของประเทศ เป็นผลมาจากความรุนแรงของโรคโควิด-19 และมีการแพร่ระบาดทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจภาคการค้าและภาคบริการหลายประเภทที่มีความสำคัญต่อ MSME ทั้งในด้านจำนวนกิจการและจำนวนการจ้างงาน จำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว หรือแม้กระทั่งปิดกิจการ ทำให้รายได้ลดลง ทั้งในฝั่งของผู้ประกอบการเองและในส่วนของผู้ใช้แรงงานที่ต้องขาดรายได้ ซึ่งรวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป จากทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติตลอดทั้งไตรมาส” นายวีระพงศ์กล่าว

คาดการณ์ภาพรวม GDP MSME ปี 2563 

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 – 2564 นั้น แม้ว่าประเทศไทยจะควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดีอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ระบบเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก ซึ่งโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบ    อย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจไทย และยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงประเด็นทางการเมือง เป็นต้น

“ถึงแม้ สสว. คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 เศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการบริโภคในภาคเอกชนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้บางส่วนในเดือนตุลาคม 2563 แต่ สสว. ประเมินว่าเศรษฐกิจ MSME ไทยในปีนี้มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้” นายวีระพงศ์ กล่าว

โดย สสว. คาดว่า GDP MSME ปี 2563 จะหดตัวถึงร้อยละ 9.5 ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของการบริโภคทั้งภาครัฐและเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลงกว่าเดิม และทิศทางการบริโภคภายในประเทศยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ชะลอตัวลง อีกทั้งในภาคการลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ GDP MSME หดตัวลงร้อยละ 9.5 จากเดิมที่ประมาณการไว้อยู่ที่ 7.858 ล้านล้านบาท หดตัวลงมาอยู่ที่ 7.113 ล้านล้านบาท โดยเป็นการหดตัวของ GDP ภาคการเกษตร ร้อยละ 9.43 , GDP ภาคการผลิต หดตัวร้อยละ 9.30 , GDP ภาคการก่อสร้างหดตัวร้อยละ 5.47 , GDP ภาคการค้าส่งค้าปลีกหดตัวร้อยละ 10.38 และ  GDP ภาคการบริการหดตัวร้อยละ 9.49

ด้าน สาขาในภาคการผลิตที่มีอัตราลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ สาขาการทำเนื้อกระป๋อง เนื้อแปรรูปอื่นๆ สาขาการผลิตอาหาร สาขาการผลิตปลากระป๋องและสัตว์น้ำอื่นรวมการแปรรูปอื่นๆ ส่วนสาขาในภาคการบริการที่มีอัตราลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สาขากิจการโรงแรมและที่พักอื่นๆ และสาขาการบริการเกี่ยวเนื่องกับการขนส่ง นำเที่ยว  สาขาการขนส่งและการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางน้ำ

แนวโน้ม GDP MSME ปี 2564 

สำหรับแนวโน้มปี 2564 สสว. ได้กำหนดสมมติฐานไว้ 3 แบบ ดังนี้

1. จากสมมติฐานที่ว่า แนวโน้ม MSME ปี 2564 ในการรักษาการระบาดโรคโควิด 19 เริ่มมีทางออกมากขึ้นจากการมีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด 19 ภายในประเทศ อีกทั้งภาครัฐมีการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมร้อยละ 1 ประมาณ 500,000 ล้านบาท โดยให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจรายย่อย (Micro) วิสาหกิจขนาดย่อม (SE) มากขึ้น เพื่อเยียวยาและประคองเศรษฐกิจระดับฐานรากให้มากขึ้น และที่สำคัญควรสร้างการพัฒนาทักษะแรงงาน และสร้างอาชีพให้มากขึ้น ซึ่งจากการประมาณการ GDP MSME ของ สสว. คาดว่า GDP MSME ปี 2564 จะสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.81 เป็นผลมาจากภาครัฐอัดฉีดเงินเข้าระบบ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนการลงทุนภาครัฐ  มีการลงทุนมากขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็มีทิศทางขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ GDP MSME มาอยู่ที่ 8.472 ล้านล้านบาท โดยเป็นการขยายตัวของ GDP ภาคการเกษตร ประมาณร้อยละ 6.25 GDP ภาคการผลิต   ขยายตัวร้อยละ 7.05 GDP ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 13.69 GDP ภาคการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 6.93 และ GDP ภาคการบริการขยายตัวร้อยละ 8.90

โดยสาขาในภาคการผลิตที่มีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ คือ สาขาการผลิตเครื่องสำอาง สาขาเครื่องดื่ม สาขาการผลิตอาหาร สาขาการผลิตเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ เป็นต้น ส่วนสาขาในภาคการบริการที่มีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สาขาการบริการเกี่ยวเนื่องกับการขนส่ง นำเที่ยว สาขาการก่อสร้าง สาขาการขนส่งและการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางน้ำ สาขากิจการโรงแรมและที่พักอื่นๆ เป็นต้น

2. จากสมมติฐานที่ว่า แนวโน้ม MSME ปี 2564 จากการที่นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศตั้งแต่ตุลาคม 2563 ทำให้ในปี 2564 สสว. คาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้นร้อยละ 50       ของนักท่องเที่ยวปี 2562 ส่งผลให้มีรายได้เข้าประเทศถึง 1.0 ล้านล้านบาท จะส่งผลโดยตรงต่อ GDP MSME อย่างมาก ซึ่งจากการประมาณการ GDP MSME ของ สสว. คาดว่า GDP MSME ปี 2564 จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.98 เป็นผลมาจากการขยายตัวอย่างมากของภาคบริการ ทำให้ทุกสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งภาคผลิต การค้า และบริการได้รับอานิสงส์โดยตรง ส่งผลให้ GDP MSME มาอยู่ที่ 8.485 ล้านล้านบาท โดยเป็นการขยายตัวของ GDP ภาคการเกษตร ประมาณร้อยละ 6.19 GDP ภาคการผลิต ขยายตัวร้อยละ 7.08 GDP ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 13.75 GDP ภาคการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 6.95 และ GDP ภาคการบริการขยายตัวร้อยละ 9.40

ทั้งนี้ สาขาในภาคการผลิตที่มีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ สาขาการผลิตเครื่องสำอาง สาขาการผลิตเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ สาขาการผลิตสิ่งทอผืนสำเร็จรูป สาขาการผลิตการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นต้น ส่วนสาขาในภาคการบริการที่มีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สาขาการขนส่ง และการบริการที่เกี่ยวเนื่อง สาขากิจการโรงแรมและที่พักอื่นๆ สาขาภัตตาคาร และร้านขายเครื่องดื่ม เป็นต้น

3. จากสมมติฐานที่ว่า แนวโน้ม MSME ปี 2564 ทั้งภาครัฐมีการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมร้อยละ 1.0 ประมาณ 500,000 ล้านบาท และเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้นร้อยละ 50 ของนักท่องเที่ยวปี 2562 ส่งผลให้มีรายได้เข้าประเทศถึง 1.0 ล้านล้านบาท จะส่งผลโดยตรงต่อ GDP MSME อย่างมาก ซึ่งจากการประมาณการ GDP MSME ของ สสว. คาดว่า GDP MSME ปี 2564 จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 8.63 เป็นผลมาจากการกระตุ้นภาครัฐให้มีการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น และมีการขยายตัวอย่างมากของภาคบริการ ทำให้   ทุกสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งภาคผลิต การค้า และบริการได้รับอานิสงส์โดยตรง ส่งผลให้ GDP MSME มาอยู่ที่ 8.536 ล้านล้านบาท โดยเป็นการขยายตัวของ GDP ภาคการเกษตร ประมาณร้อยละ 7.01 GDP ภาคการผลิต ขยายตัวร้อยละ 7.57 GDP ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 13.82 GDP ภาคการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 7.51 และ GDP ภาคการบริการขยายตัวร้อยละ 10.43

ด้าน สาขาในภาคการผลิตที่มีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ คือ สาขาการผลิตเครื่องสำอาง สาขาการผลิตเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ สาขาการผลิตการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นต้น ส่วนสาขาในภาคการบริการที่มีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สาขาการขนส่ง และการบริการที่เกี่ยวเนื่อง สาขากิจการโรงแรมและที่พักอื่นๆ สาขาภัตตาคาร และร้านขายเครื่องดื่ม เป็นต้น

สถานการณ์การส่งออกของ SME ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563

ในขณะที่ภาพรวมของสถานการณ์การส่งออกของ SME ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. – ก.ค.) มูลค่าการส่งออกของ MSME ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 406,407.3 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.2% แต่เมื่ออยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะมีมูลค่า 15,290.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงเท่ากับ 17.4% และหากไม่รวมสินค้าในหมวดทองคำ (HS 7108) จะปรับตัวลดลง 17.2% โดย MSME มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่อการส่งออกรวมเท่ากับ 11.5% ขณะที่การส่งออกรวมของประเทศมีมูลค่า 133,162.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.7%

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกหลักของ MSME ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ยังคงปรับตัวลดลงเกือบทุกตลาด มีเพียงตลาดสหรัฐที่ขยายตัวได้ 19.9% สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของ MSME ในปี 2563 ที่ขยายตัวได้ ได้แก่ สินค้ากลุ่มผลไม้สด (+13.4%) สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+10.6%) และสินค้ากลุ่ม  ยานยนต์และส่วนประกอบ (+6.0%) ในทางกลับกันสินค้าส่งออกสำคัญที่ยังหดตัวต่อเนื่องในปีนี้ คือ สินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับที่ปรับตัวลดลง 48.1%

ส่วน ภาพรวมการส่งออกไปจีนของ MSME ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 MSME มีการส่งออกไปยังประเทศจีนมูลค่า 2,585.0 คิดเป็นสัดส่วน 16.9% ของ MSME Export ทั้งหมด จึงนับเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับที่หนึ่งของ MSME โดยอัตราการขยายตัวลดลง 2.7% ซึ่งสาเหตุที่สำคัญมาจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเริ่มแพร่ระบาดในจีนตั้งแต่ต้นปี สินค้าส่งออกที่สำคัญของ MSME คือผลไม้ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปยังจีนมากที่สุด คิดเป็น 75% ของมูลค่า MSME Export ไปยังจีนทั้งหมด และยังมีการเติบโตต่ออย่างเนื่องแม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

โดย MSME ส่งออกสินค้าทางการเกษตรไปยังจีน 1,310 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 50.7% (เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีสัดส่วน 44.5%) ของการส่งออกไปยังจีนทั้งหมด และมีอัตราการขยายตัวเท่ากับ 10.8% โดยสินค้าทางการเกษตรที่ MSME ส่งออกไปจีน ส่วนใหญ่ 84.5% เป็นสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูป ได้แก่ ผลไม้ ปลา และเนื้อสัตว์ และอีก 14.5% เป็โนสินค้าเกษตรแปรรูป ได้แก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์จากธัญพืชและพืชผักแปรรูป