คปภ.รื้อประกันภัยรถทั้งระบบ เพิ่มคุ้มครองชีวิต 1 ล.-เริ่ม 1 ม.ค.63 พร้อมรองรับ EV

คปภ.รื้อประกันภัยรถทั้งระบบ เพิ่มคุ้มครองชีวิต 1 ล.-เริ่ม 1 ม.ค.63 พร้อมรองรับ EV

อัปเดตล่าสุด 29 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 486 Reads   

คปภ.รื้อประกันภัยรถยนต์ใหม่ทั้งระบบรองรับรถยนต์อีวี-เพิ่มความคุ้มครองภาคสมัครใจกรณี “เสียชีวิต” หวังลดข้อพิพาทจ่ายเคลม แย้มขยับเป็น 1 ล้านบาท ยกคดี “แพรวา-เสี่ยรถเบนซ์” เป็นอุทาหรณ์ เหตุคำตัดสินศาลสะท้อนปัจจุบันจ่ายค่าสินไหมไม่เพียงพอ เร่งฟังความเห็นภาคธุรกิจก่อนเริ่มใช้ 1 ม.ค. 63 เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน

นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกรมธรรม์และคู่มือตีความของประกันภัยรถยนต์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.อยู่ระหว่างปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ใหม่ทั้งระบบให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และกำหนดมาตรการ/เงื่อนไขกรณีบริษัทประกันวินาศภัยผิดนัดโดยเจตนาจะไม่จ่าย รวมไปถึงแก้ปัญหาข้อพิพาทต่าง ๆ พร้อมปรับปรุงคู่มือตีความใหม่ให้บริษัทประกันใช้ปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน

“ขณะนี้อยู่ในช่วงรับฟังความเห็นภาคธุรกิจ คาดว่าจะเสร็จและเสนอนายทะเบียนอนุมัติใน พ.ย.-ธ.ค. นี้ เพื่อเริ่มใช้ 1 ม.ค. 63 เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน”

โดยแนวทางเบื้องต้นจะมีการขยายความคุ้มครอง (ทุนประกันภัย) สำหรับความเสียหายของบุคคลภายนอก (liability insurance) กรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพในกรมธรรม์ภาคสมัครใจ จากเดิมที่กำหนดวงเงินไว้สูงสุดแล้วให้บริษัทประกันพิจารณาจ่ายตามความเสียหายที่แท้จริง (ฐานานุรูป) แต่เกิดข้อพิพาท และใช้เวลาในการจ่ายค่อนข้างนาน เพราะต้องต่อรองหาหลักฐาน

ทั้งนี้ จากการหารือกับเอกชน เบื้องต้น ทุนประกันมี 3 ทางเลือก คือ 3 แสนบาท, 5 แสนบาท หรือ 1 ล้านบาท เมื่อเกิดเหตุแล้ว ประกันต้องจ่ายทันที “คปภ.รับหลักการมาแล้ว ขณะนี้ได้ให้คณะทำงานย่อยไปพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เพราะอาจจะกระทบเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่อาจจะสูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนตัวมองว่าความคุ้มครองที่ 1 ล้านบาท ค่อนข้างเหมาะสม จากกว่า 10 ปีก่อนต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 1 แสนบาท และขยับขึ้นมาไม่น้อยกว่า 3 แสนบาท จนใช้มาถึงปัจจุบัน ทำให้หลาย ๆ บริษัทประกันไปขาย โดยใช้เงื่อนไขความคุ้มครองที่ 3 แสนบาทกันหมด เพราะกลัวจะเกิดข้อพิพาท ส่วนบริษัทไหนที่ขายทุนประกัน 1 ล้านบาท จะมีส่วนที่เกินจาก 3 แสนไปจนถึง 1 ล้านบาท ก็ต้องมาพิสูจน์กันวุ่นวาย”

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า โมเดลนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะสะท้อนการจ่ายค่าสินไหมในปัจจุบันว่าไม่เพียงพอแล้ว โดยเห็นชัดเจนในคดีแพรวา/เสี่ยรถเบนซ์ ตามมาตรฐานที่ศาลตัดสิน ขณะเดียวกันจะช่วยกอบกู้ชื่อเสียงธุรกิจประกันวินาศภัยให้กลับมาดีขึ้นด้วย ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) ของสมาคมมีมติเห็นด้วยไปแล้ว แม้ว่าอาจมีผลต่อการปรับขึ้นเบี้ยประกันราว 2-3% แต่ก็ไม่มาก

“จะได้ไม่ต้องถูกมองว่า บริษัทประกันโยกโย้ในการจ่ายเคลม จากการที่ต้องไปนั่งเจรจาต่อรอง ซึ่งแม้จะมีผลต่อการปรับขึ้นเบี้ย แต่ขณะนี้หลายบริษัทก็กำลังปรับเบี้ยอยู่แล้ว เพราะมันเจ๊ง ดังนั้นแทนที่จะขึ้นเบี้ย 10% ก็บวกความคุ้มครองเพิ่มให้ประชาชนเข้าไปด้วยเลย ซึ่งเบี้ยรถยนต์คงเพิ่ม 300-400 บาท”

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) กล่าวว่า ปัจจุบันศาลพิจารณาให้ชดใช้กรณีเสียชีวิตในมูลค่าที่สูง ดังนั้น จึงควรมีการปรับเพิ่มความคุ้มครอง ซึ่งปัจจุบันค่าเฉลี่ยของบริษัทที่จ่ายความคุ้มครองส่วนนี้ ทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับรวมเกือบ 8 แสนบาทต่อชีวิตอยู่แล้ว ดังนั้นหากต้องจ่ายในวงเงิน 1 ล้านบาท ก็ไม่น่ามีปัญหา