เสวนาจัดหนัก ปลุกอุตสาหกรรมแม่พิมพ์

อัปเดตล่าสุด 30 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 831 Reads   

เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา ภายในงาน iMould Die Symposium 2019 “Innovation for Mould Die and Machine Tool” ที่จัดขึ้นที่สถาบันไทย-เยอรมัน ซึ่งมีผู้ประกอบการ นักอุตสาหกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก และภายในงานยังมีการจัดการเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ซึ่งไฮไลท์อยู่ที่ผู้ร่วมเสวนา และผู้ดำเนินรายการรวม 5 ท่านนั้น ล้วนเป็นบุคลากรของภาคอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์โดยตรง ประกอบไปด้วย ดร.ฉัตรแก้ว ฮาตระวัง กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยซัมมิท โอโตโมทีฟ จำกัด , คุณบุญเลิศ ชดช้อย นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย , คุณสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน และ คุณเจษฎา กิ่งแก้ว  Technical Service Director Senior Aerospace (Thailand) Limited โดยมี คุณวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ผู้ดำเนินรายการ

คุณวิโรจน์ กล่าวเปิดโต๊ะเสวนา ด้วยเรื่องที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมและผลักดันระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการมอบหมายให้หลาย ๆ หน่วยงานช่วยหาแนวทางร่วมกันเพื่อพัฒนาสู่เป้าหมาย  และสถาบันไทย-เยอรมัน เราก็อยู่ในพื้นที่ และเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งเครื่องมือ และบุคลากรที่มีคุณภาพ ที่สามารถผลักดันได้ทั้งในอุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยเช่นกัน

ดร.ฉัตรแก้ว ฮาตระวัง กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยซัมมิท โอโตโมทีฟ จำกัด 

เมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์มาโดยตลอด
ดร.ฉัตรแก้ว ฮาตระวัง กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยซัมมิท โอโตโมทีฟ จำกัด จึงแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ “อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ถือว่ามีผู้เล่นอยู่ในระดับที่มากพอสมควร ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยี กระบวนการผลิตต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในการสร้างแม่พิมพ์จึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ หากอุตสาหกรรมแม่พิมพ์จะแข่งขัน พร้อมหรือยังกับการพัฒนาสิ่งเหล่านี้

  • เร็ว เร็วในเรื่องของระยะเวลาในกระบวนการผลิตแม่พิมพ์ คือการที่จะสร้างแม่พิมพ์หนึ่งตัว ระยะเวลาที่จะเสียไปในกระบวนการผลิตต้องน้อยลง ในอุตสาหกรรมยานยนต์ การที่จะพัฒนา develop รถยนต์ขึ้นมาหนึ่งคันต้องมีตัวอย่างแรกจากแม่พิมพ์ แต่ก่อนใช้เวลากันถึง 8 เดือน แต่ปัจจุบันเราให้เวลากับกระบวนการนี้ที่ 4 เดือน โจทย์คือเวลาในการผลิตแม่พิมพ์ต้องสั้นลง สิ่งที่เรามองต่อมาก็คือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงซอฟแวร์ต่าง ๆ  
  • ซอฟต์แวร์ เป็นส่วนที่จำเป็น และสำคัญมาในกระบวนการผลิตแม่พิมพ์เป็นอย่างมาก ทีผ่านมาผู้ประกอบการแม่พิมพ์อาจจะไม่ใช้ซอฟแวร์ แต่ปัจจุบันไม่ได้แล้วซอฟแวร์จะเข้ามาช่วยทั้งเรื่องคุณภาพของชิ้นงาน ควบคุมกระบวนการผลิตต่าง ๆ ให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ความสำคัญกระบวนการผลิตแม่พิมพ์ที่ใช้ซอฟแวร์ที่ได้มาตรฐานเป็นอย่างมาก 
  • ระบบอัตโนมัติ เดิมทีเรามักมีปัญหาเรื่องคุณภาพของแม่พิมพ์จากการใช้ระบบ Manual แต่ปัจจุบันคุณภาพของแม่พิมพ์ต้องได้มาตรฐานและเที่ยงตรง ระบบอัตโนมัติตอบโจทย์ในส่วนนี้ แต่หากใช้การปั้มหรือการฉีดในระบบอัตโนมัติความเร็วก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความร้อนที่มากขึ้น ดังนั้นวัสดุที่จะใช้ในการทำแม่พิมพ์ก็จะต้องมีคุณภาพที่สอดรับไปกับกระบวนการในระบบอัตโนมัติเช่นกัน และระบบอัตโนมัติจะส่งผลในเรื่องของความเร็วได้ด้วย เช่น การเปลี่ยนแม่พิมพ์ในระบบอัตโนมัติใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 3-5 นาที หากเป็นระบบ Manual อาจใช้เวลา 30-45 นาที และควรคำนึงถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะมาเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของแม่พิมพ์ด้วย ทั้งในเรื่องของระบบเซ็นเซอร์การตรวจเช็คต่าง ๆ ควรดำเนินงานด้วยระบบเป็นอัตโนมัติ

ในอุตสาหกรรมยานยนต์ทราบดีว่า บุคลากรในประเทศมีศักยภาพมากพอ แต่ปัญหาใหญ่คือ การทำแม่พิมพ์ของเราต้องอาศัยเทคโนโลยีอีกมาก และส่วนใหญ่เราจะนำเข้าจากต่างประเทศ หากรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญร่วมสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง จะนำพาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไปไกลได้แน่นอน อย่างประเทศจีนเองเพิ่งจะมีการพัฒนาการผลิตรถเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนหน้านี้ เรียกว่าทำหลังประเทศไทย ในส่วนของแม่พิมพ์เองจีนก็เพิ่งทำเช่นกัน แต่ปัจจุบันจีนพัฒนาไทยไปมาก เพราะภาครัฐจีนส่งเสริมอย่างจริงจัง รวมทั้งหน่วยงานของสถาบันในมหาวิทยาลัยมีการวิจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรม จึงส่งผลดีกับภาคอุตสาหกรรม” 

“ในอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์จะมารอ 8-9 เดือนอย่างแต่ก่อนไม่ทันการแล้ว ต้อง 4 เดือนเท่านั้น นี่แหละโจทย์ที่อุตสาหกรรมแม่พิมพ์จะต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์ให้ได้ ต้อง “ เร็ว เร่งด่วน แม่นยำ ” 

คุณบุญเลิศ ชดช้อย นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย

คุณบุญเลิศ ชดช้อย นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย  กล่าวถึงความเป็นห่วงต่ออุตสาหกรรมแม่พิมพ์ว่า “หลังจากที่ได้ทราบถึงความต้องการในงานแม่พิมพ์จากฝากฝั่งของทางอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะทุกระบวนการที่กล่าวมา ล้วนต้องมีองค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์มาถ่ายทอด เนื่องจากทางสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เล็งเห็นความสำคัญขององค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการแม่พิมพ์ต้องมี ยิ่งแม่พิมพ์ยานยนต์สมัยใหม่เป็นเหล็ก High tensile ซึ่งเราก็ยังขาดองค์ความรู้อยู่มาก ส่วนในอุตสาหกรรมการแพทย์ แม่พิมพ์ที่ใช้กันมากคือแม่พิมพ์ยาง ซึ่งตอนนี้ความต้องการของท้องตลาดไปถึง injection Rubber กันแล้ว เช่นเคยเราก็ยังขาดองค์ความรู้อยู่ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่สามารถวิ่งตามเทคโนโลยีได้ทัน 

ยางเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์ได้ดีมาก เนื่องจากในอุตสาหกรรมดังกล่าวมีความต้องการผลิตภัณฑ์จากยางที่สูงมาก หากเราทำได้ราคายางจะไม่ตกต่ำ อย่างที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ หากอุตสาหกรรมต้นน้ำไม่มีองค์ความรู้ที่สอดรับกับกระแสโลกแล้ว อุตสาหกรรมกลางน้ำ อุตสาหกรรมปลายน้ำจะไปต่ออย่างไร 

ในส่วนของอุตสาหกรรมการแพทย์ใน EEC เราก็พยายามผลักดันให้เกิดศูนย์ทดสอบเครื่องมือแพทย์ เพราะประเทศไทยเรายังไม่มี และเป็นสิ่งสำคัญ ในปี 2563 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่เราลองมองดูแค่ไม้เท้าคุณภาพดี ๆ เรายังนำเข้าจากต่างประเทศ เหล่านี้ SME เราสามารถพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้ การทำเครื่องมือแพทย์อาจจะมีซับซ้อน แต่การทำอุปกรณ์การแพทย์น่าจะมีโอกาสที่มากกว่า”

"ในส่วนของภาครัฐควรตระหนักถึงองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการ หากข้ามสิ่งนี้ไป 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายก็สู่ความสำเร็จได้ยาก ในส่วนผู้ประกอบการอย่างRenovate อย่างเดียวต้อง Transform เช่น จากแม่พิมพ์ ไปเป็นอากาศยาน จากแม่พิมพ์ ไปเป็นเครื่องมือแพทย์ ถึงจะรอด !"
 

 


คุณสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน

คุณสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า “อุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ EEC เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมกลางน้ำที่ TGI เล็งเห็นและให้ความสำคัญ 1.อุตสาหกรรมแม่ คืออุตสาหกรรมแม่พิมพ์ 2.อุตสาหกรรมพ่อ คืออุตสาหกรรมเครื่องจักรกล 3.อุตสาหกรรมพี่ คืออุตสาหกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่ง TGI เห็นความเชื่อมโยง และความสำคัญ และมีเป้าหมายเพื่อดำเนินการพัฒนาทั้งในเรื่องของ Technology transforms , technology development , technology management เน้นผลักดันด้านบุคลากรเป็นสำคัญ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของระเบียงเศรษฐกิจ (EEC) เนื่องจากในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้านี้ EEC มีความต้องการบุคลากรถึง 47,000 คนโดยประมาณ ตรงนี้เป็นตัวเลขในส่วนของ EEC เท่านั้น ยังไม่รวมส่วนของอุตสาหกรรม S-Curv ต่าง ๆ ดังนั้นจะเห็นว่าในส่วนของ EEC นั้นมีความต้องการที่เด่นชัดคือ บุคลากรที่มีทักษะ เป็นคนเก่ง คนดี คนที่มีความสุข จากการวิเคราะห์ด้วยประสบการณ์และความรู้ทั้งหมดที่มี สิ่งที่บุคลากรต้องมีคือ Hard Skill และ Soft Skill บุคลากรไทยเป็นที่ยอมรับของประเทศญี่ปุ่น และประเทศเยอรมันว่า บุคลากรเรามี  Hard Skill ที่ดี แต่ในส่วนของ Soft Skill เรายังต้องพัฒนา 

อุตสาหกรรมไทยที่เติบโตมาได้ทุกวันนี้ เพราะความเข้มแข็งของภาคเอกชน จึงอยากให้ภาคเอกชนเรานั้นพัฒนาศักยภาพของตนที่มี ซึ่งมากพอ ให้มากไปอีก ผมมีความชื่นชมบริษัทหนึ่ง คือบริษัทโชคนำชัย ผู้ผลิตและประกอบเรืออลูมิเนียม รถอลูมิเนียม ยอดการสั่งออเดอร์มากมาย โชคนำชัยพัฒนาตัวเองมาจากเทคโนโลยีแม่พิมพ์ยานยนต์ ก่อนหน้านี้ผลิตเรือหนึ่งลำใช้เวลา 8-9 เดือน ปัจจุบันใช้เวลาเพียงแค่ 1 เดือน นอกจากเวลาที่หายไป ต้นทุนก็หายไปด้วย” 

“เราคาดหวังให้ตัวบุคลากรเอง พัฒนาและผลักดันตัวเองให้มากพอก่อน learn how to learn เรียนไปแล้วเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมที่จะปรับ มีผู้คอยให้องค์ความรู้ และมีผู้รับรองความรู้ความสามารถ บุคลากรจึงจะมีตัวตน” 

 

คุณเจษฎา กิ่งแก้ว  Technical Service Director Senior Aerospace (Thailand) Limited


คุณเจษฎา กิ่งแก้ว  Technical Service Director Senior Aerospace (Thailand) Limited  กล่าวถึง เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเป็น HUB แห่งอากาศยานว่า “มีโอกาส เพราะธุรกิจเครื่องบินโตขึ้นมาก ลองดูว่าเมื่อปี 1955 มีประชากอยู่ที่  2,700 ล้านคน ปัจจุบันปี 2019 มีประชากรอยู่ที่ 7,700 ล้านคน ประชากรเพิ่มมากขึ้น มีความต้องการเดินทาง เทคโนโลยีเข้าถึงกันมากขึ้น เครื่องบินคือตัวเลือกของการเดินทางในยุคนี้ ยอดจองเครื่องบินเพิ่มขึ้นแบบตั้งตัวไม่ทัน 

แอร์บัส (Airbus) เผยข้อมูลปัจจุบัน ได้รับออเดอร์จากสายการบินอยู่ที่ 7,000 ลำ ซึ่งแอร์บัส (Airbus) ผลิตเครื่องบินได้ปีละ 400 ลำ ต้องใช้เวลา 18 ปี เป็นอย่างต่ำ ถึงจะสามารถผลิตได้ตามออเดอร์การสั่ง เมื่อตลาดอากาศยานโตมาก Low cost airlines จึงเป็นที่นิยม  Low cost airlines ก็บีบแอร์บัส (Airbus) และ โบอิ้ง (Boeing) ต้องการเครื่องบินราคาถูก แน่นอนว่าต้องมีการเปลี่ยนซัพพลายเออร์ใหม่ ปรากฎว่าซัพพลายเออร์ที่ราคาสมน้ำสมเนื้อที่สุดอยู่ที่ south is asia และประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่ดี เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะได้รับพิจารณา

Senior Aerospace เองก็โชคดีเราได้รับโอกาสนั้น เราส่งตรงชิ้นส่วนแอร์บัส (Airbus) ส่งตรงโรลส์รอยซ์ (Rolls Royce) และกำลังจะส่งตรงโบอิ้ง (Boeing) ยอดขายเราโต 300% จาก 5 ปีที่แล้ว ดังนั้นอุตสาหกรรมเครื่องบินจึงเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังหอมหวาน บริษัทใหม่ ๆ ที่เจ้าของเป็นคนไทย เช่น CCS , Lenso Aerospace ก็โตขึ้นมา เราล้วนพึ่งแม่พิมพ์ทั้งสิ้น Precision forging เป็นสิ่งที่เรามองหา ซึ่งทุกวันนี้ผู้ที่ผลิตมีไม่กี่รายในโลก ปัจจุบันเราซื้อจากบริษัทเยอรมัน อยากให้เทคโนโลยีเหล่านี้คนไทยทำได้


“3 ประเทศที่อุตสาหกรรมอากาศยานต์ต่างชาติเล็งลงทุน มาเลเซีย,ไทย และเวียดนาม คัดเลือกโดยการวิจัยและเก็บข้อมูล เรียกว่าไทยค่อนข้างเนื้อหอม และหากอุตสาหกรรมแม่พิมพ์พัฒนาเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมอากาศยานได้ เราไปไกลแน่นอน”