กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตั้งเป้าปี 2564 ฝึกอบรมทักษะ 5,440 คน ผลิตช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า และผู้ประกอบอาหาร รองรับการจ้างงานสูงสุด 3 อันดับแรกใน EEC

ปูพรมรับสมัครฝึกอบรมแรงงานช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า พัฒนาทักษะแรงงานฝีมือดี หนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC

อัปเดตล่าสุด 15 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 832 Reads   

เมื่อแรงงานทักษะและมีฝีมือดีเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ ในโลกการทำงานยุคใหม่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ขานรับนโยบายรัฐมนตรีใหม่ จึงปูพรมรับสมัครฝึกอบรมฝีมือแรงงาน มุ่งเป้าตลาดช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า และผู้ประกอบอาหาร ที่ยังติดอันดับความต้องการจ้างงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตั้งเป้าฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงาน จำนวน 5,440 คน ในปี 2564 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างเต็มที่

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงโครงการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน หลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน เพื่อเตรียมพร้อมแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและบริการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม โดยจะใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 2-4 เดือน ทั้งในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) หรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) รวมทั้งส่งไปฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ เพื่อฝึกประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งสถานประกอบกิจการจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าว สังเกตพฤติกรรม ลักษณะนิสัย และความรู้ ความสามารถเพื่อพิจารณารับเข้าทำงานด้วย

ทั้งนี้ โดยส่วนมากสถานประกอบกิจการจะรับเข้าทำงาน เนื่องจากเป็นการฝึกในหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งการฝึกอบรมแรงงานใหม่เตรียมป้อนสู่ตลาดแรงงานของ กพร. เป็นไปตามโยบายของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการเตรียมแผนรองรับการจ้างงานคนรุ่นใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน

นายธวัช กล่าวว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับแรงงานและสถานประกอบกิจการทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC มีความต้องการแรงงานฝีมือจำนวนมาก มีโครงการสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐ

ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องย่อมมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย จากข้อมูลพบว่าในพื้นที่ EEC ยังมีความต้องการแรงงานกลุ่มอาชีพด้านช่างและภาคบริการ อาทิ ช่างเชื่อม เป็นประเภทงานที่ติด 1 ใน 10 อันดับที่ EEC ต้องการ รวมถึงแรงงานที่มีความรู้ด้านการประกอบอาหาร ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้แรงงานมีทักษะฝีมือตรงกับความต้องการของตลาด จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของ กพร. ที่ต้องดำเนินการฝึกให้ทันต่อความต้องการและทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2564 มีเป้าหมายการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงาน จำนวน 5,440 คน ในการฝึกดังกล่าวมีหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน เป็นการฝึกให้กับแรงงานตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน โดยมอบหมายให้ สพร. และ สนพ.วางแผนเตรียมรับสมัครฝึกอบรม ตามความต้องการแรงงานในพื้นที่ รวมถึงสาขาอาชีพที่สามารถป้อนสู่ตลาดแรงงานในเขต EEC ด้วย

ปัจจุบันมีหลายจังหวัดเริ่มประกาศรับสมัครหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานแล้ว อาทิ สนพ.ศรีสะเกษ ประกาศเปิดรับสมัครฝึกอบรม 6 สาขา ได้แก่ ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ และการประกอบอาหารไทย โดยจะเริ่มฝึกอบรมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ฝึกฟรี มีที่พัก สำหรับผู้ที่สนใจเข้าฝึกอบรม สอบถามข้อมูลได้ที่ สพร. และสนพ. ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือกองสื่อสารองค์กร 0 2245 4035

ขณะที่ ก่อนหน้านี้ กพร. ได้มีการเปิดฝึกอบรมการใช้โปรแกรม CAD/CAM ขั้นสูง สำหรับงานกัด-กลึง (Mill-Turn Technology) เพื่อ รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย EEC ให้แก่บุคลากรฝึก และวิทยากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 20 คน (ระยะเวลาฝึกอบรม 30 ชั่วโมง) เพื่อพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญสามารถถ่ายทอดความรู้และทักษะให้แก่แรงงานในสาขานี้ได้อย่างมีคุณภาพ โดยเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม  ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้และทำการร่วมกับโปรแกรม HyperMILL สำหรับงานกัดและกลึง โดยหลักสูตรนี้มีจุดเด่นที่การใช้เทคโนโลยีลดระยะเวลาในการตัดชิ้นงานได้ถึง80%  ทั้งยังช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักรได้ถึง 3 เท่า ขณะเดียวกัน การใช้โปรแกรม CAD/CAM ในอุตสาหกรรมการผลิตนั้น จะมีประโยชน์ในการผลิตชิ้นงานให้มีความแม่นยำ เที่ยงตรง สามารถทำงานที่สลับซับซ้อนได้ รวมถึงทำงานซ้ำๆ ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้นายจ้างและสถานประกอบกิจการประหยัดต้นทุน เวลา และกำลังแรงงาน นับเป็นอีกหนึ่งหลักสูตรด้านเทคโนโลยีชั้นสูงที่บุคลากรของกพร. ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้แก่แรงงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0