รวม “สเปชอินโนเวชั่น” เข้า EECi เครือปตท.นำร่องสร้างห้องปฏิบัติการ

อัปเดตล่าสุด 28 ธ.ค. 2561
  • Share :

กระทรวงวิทย์แก้แผนแม่บทเขตนวัตกรรม EECi ประกาศใช้ “วังจันทร์วัลเลย์” เป็นที่ตั้งเพียงแห่งเดียว พร้อมยุบรวม Space Innopolis เข้ามาไว้ด้วยกัน หวังให้เกิดการพัฒนาและเป็นแหล่งนวัตกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ


ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคืบหน้าโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กำลังดำเนินการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนา EECi ใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) industry-led consortium หรือการพัฒนาที่มีอุตสาหกรรมเป็นแกนนำ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างเมืองนวัตกรรมกับการหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ


2) การใช้วังจันทร์วัลเลย์ของ ปตท.เป็นที่ตั้งเพียงแห่งเดียวของ EECi เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเป็นแหล่งนวัตกรรมขนาดใหญ่ โดยจะนำกิจกรรม Space Innopolis ที่ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มารวมอยู่ที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยองแทน รวมถึงการตั้งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ของประเทศไทยด้วย 3) การเริ่มดำเนินการ EECi ทันทีโดยการใช้ประโยชน์จากอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ส่วนภูมิภาค เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของการทำผลงานวิจัย 4) ประมาณการงบฯการลงทุนใน EECi ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อยู่ที่ 33,170 ล้านบาท และด้วยงบประมาณจำนวนนี้จะเกิดการลงทุนต่อเนื่องจากภาคเอกชนประมาณ 110,000 ล้านบาท และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอีก 271,000 ล้านบาท


สำหรับการดำเนินการในพื้นที่ EECi ขณะนี้ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมติให้ขยายพื้นที่การให้สิทธิประโยชน์การลงทุนในเขตนวัตกรรม EECi ให้ครอบคลุมไปถึงการลงทุนในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ระหว่างที่รอการพัฒนาพื้นที่ใน EECi โดยปัจจุบันมี 4 บริษัทที่ได้ลงทุนจัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการ” ในส่วนของ education zone บนพื้นที่ของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) แล้ว ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)-บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)-บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC


นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่พร้อมจะลงทุนอาคารวิจัยนวัตกรรมกับศูนย์สาธิตเทคโนโลยีในพื้นที่ innovation zone อีก 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท BioLASCO จากไต้หวัน, บริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส และล่าสุดมีกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องเร่งอนุภาคและระบบลำเลียงแสงจากเกาหลีได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่ EECi ด้วย


ส่วนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาไทยกับต่างประเทศที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ EECi จะมีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกียวโตกับสถาบันวิทยสิริเมธีจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านวัสดุสมัยใหม่, มหาวิทยาลัย CMKL ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับ Carnegie Mellon University ตกลงที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมวิจัย-ถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงสู่อุตสาหกรรมไทย และโครงการนำร่องนวัตกรรมเกษตรร่วมกับเอกชนไทย


มหาวิทยาลัยมหิดล-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-มหาวิทยาลัยบูรพา-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์-VISTEC ร่วมกันขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใน EECi ทางภาคเอกชนก็ได้มีความร่วมมือในพื้นที่ EECi โดยกลุ่มมิตรผล-IBM-สวทช.ได้ทำข้อตกลงในการนำเทคโนโลยี big data/data analytics มาใช้ในการทำนายปริมาณคุณภาพผลผลิตโรคพืชและการระบาดของแมลง ส่วนบริษัทไทยแอลกอฮอล์ได้ลงนามในความร่วมมือเพื่อวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพกับสถาบันวิจัยต่างประเทศ


ด้านแหล่งข่าวในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งดูแลกิจกรรมในพื้นที่ EECi กล่าวว่า บมจ.ปตท.ได้ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ EECi เสร็จแล้ว ในขณะที่ สวทช.ได้ออกแบบกลุ่มอาคาร EECi แล้วคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในต้นปี 2562 วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท