107-โรงไฟฟ้าชุมชน-ประชารัฐ-พลังงานชีวมวล

โมเดลโรงไฟฟ้าประชารัฐ กฟภ. ลงทุน 5 แสนล้าน ผุด 4,125 MW

อัปเดตล่าสุด 28 ก.ย. 2562
  • Share :

การผลักดัน “โรงไฟฟ้าชุมชน” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เป็นนโยบายหลักของสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยหลังจากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เริ่มเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ล่าสุด ชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่ หรือ ชวพม. เปิดเวทีระดมไอเดีย “โรงไฟฟ้าชุมชน ประชาชนได้อะไร” ซึ่งยังมีหลากมิติ หลายความเห็นต่าง ที่ต้องมาลุ้นว่าจะผลักดันสำเร็จหรือไม่
 
มุมมองของ นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า นิยามโรงไฟฟ้าชุมชน ต้องมาจากชุมชน เพื่อชุมชน ต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมที่จะ win-win จะต้องตั้งเป็นบริษัท ไฟฟ้าประชารัฐ… จำกัด ซึ่งมีหน่วยงานรัฐถือหุ้นสัดส่วน 40% ขณะที่บริษัทชุมชนประชารัฐ… ถือหุ้นสัดส่วน 60% โดยบริษัทนี้มาจากวิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย สมาชิกในชุมชนไม่น้อยกว่า 7 คน ไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน สัดส่วน 24% และเอกชน 60%

5 แสนล้านลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล-ก๊าซชีวภาพ

โดยจะมีทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล (biomass) และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (biogass) ซึ่ง กฟภ.จะเสนอให้ใช้ “พืชพลังงานที่ปลูกในชุมชน” เป็นเชื้อเพลงหลักเท่านั้น เชื้อเพลิงรองคือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งจากประเมินศักยภาพสายส่งสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าชุมชนทั่วประเทศ 4,125 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นจำนวนโรงไฟฟ้าชุมชน 1,563 แห่ง แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพขนาด 2 เมกะวัตต์ 564 โรง กำลังผลิตรวม 1,128 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนแห่งละ 222 ล้านบาท รวม 125,208 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 3 เมกะวัตต์ 999 โรง กำลังผลิตรวม 2,997 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนแห่งละ 390 ล้านบาท รวม 389,610 ล้านบาท รวมทั้ง 2 ประเภท ใช้เงิน 514,818 ล้านบาท

สำหรับการกระจายโรงไฟฟ้า 2 ประเภทในแต่ละภูมิภาค ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพในภาคเหนือ 125 โรง, ภาคกลาง 203 โรง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 127 โรง และภาคใต้ 109 โรง ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคเหนือ 177 โรง, ภาคกลาง 430 โรง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 209 โรง และภาคใต้ 183 โรง

โดยระยะแรกคาดว่าเริ่มต้น 700 เมกะวัตต์ และจะขยายได้ตามศักยภาพ โดยคำนึงถึง 2 ปัจจัย คือ ศักยภาพและจำนวนวงจรระบบไฟฟ้าที่สามารถรองรับได้ (grid capacity) และความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยแต่ละพื้นที่ (average load demand) ควบคู่แผนพลังงานทดแทน AEDP ต้องมีพลังงานทดแทน 3,000 เมกะวัตต์ โดยยังคงสัดส่วนพลังงานอื่น ๆ ไว้เช่นเดิม

ทั้งนี้ กฟภ.ได้กำหนดสมมุติฐานการรับซื้อไฟฟ้าในระดับราคาแบบ FIT ตามที่เคยรับซื้อในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) เมื่อปี 2558 ซึ่งหากเป็นไฟฟ้าชีวมวล จะรับซื้อเฉลี่ย 5.22 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวล 1 โรง มีรายได้ 102.76 ล้านบาท และหากหักต้นทุนในการผลิตและค่าบริหารจัดการที่เฉลี่ย 49.13 ล้านบาท ออกไป ก็จะมีกำไร 53.63 ล้านบาทต่อปี ขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ จะรับซื้อในราคา 5.84 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 1 โรง มีรายได้ 85.16 ล้านบาท และหากหักต้นทุนในการผลิตและค่าบริหารจัดการที่เฉลี่ย 47.73 ล้านบาท ออกไป ก็จะมีกำไร 37.43 ล้านบาทต่อปี

ปลดล็อก 5 เงื่อนไข “ข้อจำกัด”

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าชุมชนจะสามารถเกิดได้บนเงื่อนไข 5 ด้าน คือ 1.อัตรารับซื้อไม่ควรใช้ระบบประกวดราคา 2.เกษตรกรต้องได้รับการประกันราคารับซื้อขั้นต่ำ 3.ต้องจัดโซนนิ่ง ใครพร้อมทำได้ทันที เช่น พื้นที่ที่มีการทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ทั้งนี้ รอบโรงไฟฟ้าชุมชน 1 MW ใช้พื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ 10ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้ 1.59 แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี 4.ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ 5.ควรร่วมมือกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทย

ต่างมอง-ต่างมุม

ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ควรผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชน แม้จะมีผลกระทบค่าไฟฟ้าบ้าง เนื่องจากหากโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าระบบ 1,000 เมกะวัตต์ ที่เป็นแบบ firm (เดินเครื่องตลอด 24 ชม.) แต่ประเด็น หากคิด 500 เมกะวัตต์แล้วไม่ firm จะกระทบค่าไฟประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วยหรือไม่ ขณะเดียวกัน ความสามารถควบคุมเชื้อเพลิงได้ก็เป็นภาระกับระบบ หากไม่บริหารจัดการให้ดี ดังนั้น กรณีนี้จะมีผลกับค่าไฟเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม โมเดลการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน ควรตอบโจทย์ น้ำ อาหาร พลังงาน ซึ่งหากใช้ “โคก หนอง นา โมเดล” ด้วยศาสตร์พระราชา มาปรับใช้จะเหมาะสม เนื่องจากชุมชนเป็นเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว ดังนั้น กฟผ.อยากให้มองทุกมิติ ไม่ใช่เพียงเรื่องพลังงาน

สอดคล้องกับ นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล กล่าวว่า เห็นด้วยกับ กฟผ.ให้ผลักดัน firm หรือ semifirm และต้องมองภาพรวม มองศักยภาพของเชื้อเพลิงที่นั้น ๆ ก่อน อาจเริ่มจาก “โมเดลตำบล” รูปแบบลงทุน คือ ชุมชน 30% เอกชน 70% และเชื้อเพลิงก็ต้องเน้นใช้จากเศษวัสดุทางการเกษตรที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์มาก่อน และไม่เคยนำมาใช้ เช่น ซังข้าวโพด ใบอ้อย ฟางข้าว และราคารับซื้อไฟควรอยู่ที่ 4.24 บาทต่อหน่วย ขณะที่โรงไฟฟ้าไม่ควรจะเกิน 3 เมกะวัตต์ ลงทุน 280 ล้านบาท จึงจะเหมาะสม ทั้งนี้ คาดว่าโมเดลนี้จะเสนอต่อเรกูเลเตอร์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อทำแซนด์บอกซ์ ต้องมีการรับซื้อเกิดขึ้นก่อน ไม่อย่างนั้นก็เกิดยาก และหากสำเร็จจะตอบโจทย์รัฐบาลนโยบาย bio economy

นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเอซี โกลบอล กล่าวว่า ยังไม่ควรแตะกลไกราคา เนื่องจากมีหลายปัจจัย แต่ต้องดูวัตถุประสงค์หลักว่า energy for all เพื่อชุมชน สังคม ภาพกว้าง ต้องช่วยกันผลักดัน ถ้าเราต้องการความเสถียรก็ยังไม่ควรเน้นราคาโรงไฟฟ้าชุมชน ถามว่าค่าไฟจะอิมแพ็กต์ถึง 20 สตางค์ คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่อาจจะต้องยอมรับว่าต้องมีราคารับซื้อสูงขึ้นเพื่อความคุ้มค่า วันนี้เราทำได้กับภูมิภาค ซึ่งบริษัทใช้หญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิง ช่วยทำให้ชุมชนดีขึ้น มีรายได้ จ.เชียงใหม่ ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบถึง 4 เท่า

นายรังสฤษฎ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน กล่าวว่า ชุมชนต้องเป็นเจ้าของ 100% ควรเน้นที่ชุมชนที่ไม่มีไฟใช้ และสายส่งไปไม่ถึง จึงขอเสนอเป็นรูปแบบไมโครกริด โดยนำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้ามาสนับสนุนก่อน เรื่องนี้เป็นกิจการเพื่อสังคม ไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็นสิ่งที่น่าทำ เป็นภาระของประเทศ แต่เป็นพลังของประชาชนที่หมู่บ้านนั้น ๆ ต้องทำ ที่ผ่านมาชาวบ้านควรได้รับโอกาสมากกว่านี้ และอยากให้รัฐบาลชุดนี้เอาจริงเอาจังกับนโยบายโรงไฟฟ้าเพื่อชุมชนให้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม นายพรอรัญ สุวรรณพลาย รองประธาน Thai Biogas Trade Association กล่าวว่า สิ่งสำคัญของนโยบาย policy จะเกิดไม่ได้ หากภาครัฐไม่จริงใจ ต้องยอมรับว่าเราหยุดซื้อ PPA มา 5 ปีกว่าแล้ว สิ่งนี้ทำให้ไม่ต่อเนื่องและเกิดภาพฉายซ้ำ