OKMD หนุน EEC จัดค่ายวิทย์ฯ เตรียมพร้อมเยาวชนไทยเพิ่มทักษะด้าน “หุ่นยนต์ และ AR”

อัปเดตล่าสุด 29 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 768 Reads   

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD จัดค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2 หลักสูตร  “หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีเสมือนจริง (Augmented Reality: AR)” เพื่อเตรียมความพร้อมเยาวชนให้มีทักษะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หวังเพิ่มศักยภาพกำลังคนรองรับการพัฒนาของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ที่มีความต้องการตลาดแรงงานในระยะเร่งด่วนและจำเป็น ตั้งเป้าหมายพัฒนาศักยภาพเยาวชน จังหวัดละ 200 คน หรือรวมทั้งหมด 600 คน   


นายอภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการความรู้ OKMD เปิดเผยว่า การออกแบบค่ายเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning : BBL) ที่จะทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้อย่างเข้าใจและจดจำได้ ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ที่เรียกว่า Active Learning ฝึกฝนจนเกิดทักษะ ความชำนาญ และค้นพบความถนัด ความสนใจ ความสามารถของตัวเอง โดยมีทีมวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาให้ความรู้ตลอดการอบรม

"เทคนิคของ BBL นอกจากเด็ก ๆ จะได้รับการกระตุ้นปลูกฝังให้สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นแล้ว เด็กจะเริ่มรู้จักความถนัดของตัวเอง ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ และได้เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของตลาดแรงงานประเภทเทคโนโลยีสูงในพื้นที่ EEC มากขึ้น จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หรือยึดเป็นวิชาชีพตามความถนัด ความชอบของตัวเอง ทำให้ประเทศจะได้คนวัยทำงานกลุ่มใหม่ของพื้นที่ EEC ที่มีความรู้ มีทักษะสูง สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมใหม่ โดยขณะนี้ OKMD ได้ขยายแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL ในโรงเรียนทั้งภาครัฐสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 943 แห่ง, สังกัดเทศบาล 258 แห่ง และสังกัดภาคเอกชน 50 แห่ง"         

สำหรับค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเยาวชนให้ความสนใจจำนวนมากทั้ง 2 หลักสูตร โดย นางสาวปาหนัน ติ้วทอง นักเรียนระดับ ปวส. ปีที่ 1 สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) อำเภอเมือง เล่าประสบการณ์จากการเข้าค่ายฯ ว่า นอกจากจะรู้สึกสนุกแล้ว ยังได้รับความรู้เพิ่มเติมจากที่วิทยาลัยสอนมา ซึ่งจะนำความรู้จากการอบรมเรื่องหุ่นยนต์ และวงจรไฟฟ้าในครั้งนี้ไปพัฒนาแขนกลเป็นโมเดลใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมให้รุ่นน้องต่อไป ส่วนเป้าหมายชีวิตหลังเรียนจบ ตั้งเป้าจะทำงานไฟฟ้าที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากเป็นความถนัดและความชอบของตัวเอง         

ขณะที่ นางสาวอาริสา อาจหาญ นักเรียนชั้น ม. 5 โรงเรียนดอนฉิมพลีวิทยาคม อำเภอบางน้ำเปรี้ยว เล่าว่า ค่ายหุ่นยนต์ครั้งนี้ได้รับการเรียนรู้ที่สนุกมาก และหลังจากได้ลงมือทำแขนหุ่นยนต์ ประกอบวงจรไฟฟ้าและโปรแกรมควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ ทำให้เกิดความเข้าใจดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับวิชาที่เรียนในชั้นเรียนด้วย ซึ่งจะนำความรู้นี้ไปพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ “ทุ่นลอยน้ำให้อาหารปลาอัตโนมัติ” ที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดฉะเชิงเทราในปีที่ผ่านมา เพื่อให้สิ่งประดิษฐ์มีศักยภาพสูงขึ้น ตั้งเป้าจะส่งผลงานเข้าประกวดในระดับเขตการศึกษาที่ 6 ช่วงปลายปี 2562 นี้

ส่วนค่าย AR นั้น นายณัฐพล เดือนเด่น นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนดอนฉิมพลีพิทยา เล่าถึงสาเหตุที่สมัครเข้าอบรม เพื่อเพิ่มความรู้ในเรื่องนี้ให้มากขึ้น และจะสามารถนำไปใช้ในการเรียนโดยเฉพาะวิชาชีวะในมิติที่ละเอียดกว่าเดิม รวมทั้งในชีวิตจริงก็สามารถนำไปใช้วางแผนองค์ประกอบการจัดบ้าน ออกแบบดีไซน์ตกแต่ง โดยไม่ต้องเสียเวลา ซึ่งยอมรับในช่วงแรกอาจจะยากแต่เมื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะทำได้อย่างแน่นอน โดยจะนำความรู้จากการอบรมไปถ่ายทอดสู่เพื่อน ๆ และร่วมแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเพื่อนที่เข้าอบรมเรื่องหุ่นยนต์         

เช่นเดียวกับ นางสาวปพิชญา โอนธรรม นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎ์ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมอบรมเออาร์ เพราะเป็นเรื่องใหม่ โดยตัวเองเรียนดิจิทัลโรบอตอยู่แล้วจึงเป็นตัวแทนเพื่อน ๆ เข้าอรบรมเพื่อนำไปถ่ายทอดต่อไป ซึ่งนักเรียนทุกคนก็มีสมาร์ทโฟนแค่โหลดโปรแกรมก็สามารถทำเรื่องยากหลายเรื่องให้เป็นเรื่องง่ายได้ นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในทางการแพทย์ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เด็กนักเรียนในจังหวัดระยอง ก็เข้ารับการอบรม 2 หลักสูตรดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งจากการอบรมทั้งเออาร์และหุ่นยนต์ พบว่าทั้งเด็กในระดับ ม.ต้น หรือ ม.ปลาย ต่างก็สามารถเรียนรู้ได้เท่าเทียมกัน แต่อาจแตกต่างกันด้วยประสบการณ์และความคิด

ด้าน นายธารวิชญ์ กิตติสุทโรภาษ ครูจากโรงเรียน ระยองวิทยา กล่าวว่า ได้นำเด็ก ม.1 และ ม.4 มาอบรมทั้งหลักสูตรเออาร์และหุ่นยนต์ โดยพบว่า เด็ก ม.ต้น จะตั้งคำถามในช่วงสั้น ๆ จากปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ส่วนเด็ก ม.ปลายจะมองไกลกว่า ด้วยประสบการณ์ ทักษะการคิด การตัดสินใจ และการวางแผนเป็นระบบ แต่ในเรื่องของการรับรู้ไม่ค่อยแตกต่างกัน ซึ่งจากการอบรมในครั้งนี้จะนำความรู้ไปปรับใช้ในเรื่องวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยเพิ่มทักษะการคิด และคำนวณ โดยส่วนตัวอยากให้มีการแข่งขันด้วย เพื่อที่เด็กจะได้คิดและพัฒนาทักษะได้มากยิ่งขึ้น

สนับสนุนบทความโดย : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)    www.eeco.or.th