106-ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ลงทุน-bts-bem

2 ค่ายชิงดำรถไฟฟ้าสายสีส้ม ประมูลมิ.ย.นี้ ประเดิมโปรเจ็กต์แรกปี’63

อัปเดตล่าสุด 31 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 969 Reads   

“ครม.ประยุทธ์” ประเดิมเมกะโปรเจ็กต์แรกของปี’63 อนุมัติรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม” เปิดประมูล PPP ดึงเอกชนลงทุน 1.27 แสนล้าน ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน จัดหาระบบ ขบวนรถ แลกรับสัมปทานเดินรถและพัฒนาเชิงพาณิชย์ 28 สถานี 30 ปี รฟม.ขายซองมิ.ย.นี้ เซ็นสัญญา ก.พ. 64 บีทีเอสผนึกคู่ค้าเก่า เขย่าเค้กแข่ง BEM ช.การช่าง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ม.ค. 2563 มีมติเห็นชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ลงทุนรูปแบบ PPP net cost รัฐลงทุน 110,673 ล้านบาท จ่ายค่าเวนคืนที่ดิน 14,661 ล้านบาท และค่าเงินลงทุนให้เอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท ด้านเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบ ขบวนรถไฟฟ้า บริหารเดินรถและซ่อมบำรุง ระยะเวลา 30 ปี วงเงิน 32,116 ล้านบาท

“เอกชนรับความเสี่ยงโครงการ ซึ่งมีผลตอบแทนด้านการเงิน ร้อยละ 0.0 ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 19.45 จะคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในเดือน ต.ค. 2563 สำรวจเวนคืนที่ดิน ส่งมอบพื้นที่ให้เสร็จในปี 2565 สร้างเสร็จเปิดบริการตลอดสายปี 2569”

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า โมเดลลงทุนสายสีส้มตะวันตกศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ คล้ายคลึงกับสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost 30 ปี รัฐเวนคืนที่ดิน 14,662 ล้านบาท เอกชนลงทุนงานโยธาช่วงตะวันตก งานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถ บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาโครงการตลอดสายจากบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม. จำนวน 28 สถานี วงเงินลงทุน 127,012 ล้านบาท รัฐสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท ชำระคืนหลังเปิดเดินรถทั้งสายเป็นระยะ 10 ปี พร้อมดอกเบี้ย

ขั้นตอนหลัง ครม.อนุมัติโครงการแล้ว คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.จะประชุมตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 พิจารณาร่างทีโออาร์ คาดว่าในเดือน มิ.ย.นี้จะเปิดขายทีโออาร์ รฟม.จะเปิดประมูลแบบนานาชาติให้บริษัทรับเหมาไทยและต่างชาติยื่นข้อเสนอ ทั้งรูปแบบกิจการร่วมค้าหรือบริษัทเดียวก็ได้ จะเปิดให้ยื่นซองปลายปีนี้ ใช้เวลาคัดเลือก 1 ปี โดยเอกชนที่ขอรับการอุดหนุนจากรัฐน้อยที่สุดและให้ผลตอบแทนกับรัฐมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ ตามแผนจะเซ็นสัญญาในเดือน ก.พ. 2564 ขณะที่การเวนคืนจะเร่งรัดออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินภายในปีนี้ เพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับเหมาหลังจากเซ็นสัญญา

“ทีโออาร์กำหนดระยะเวลา 37 ปี แบ่งเป็นก่อสร้าง 7 ปี เพราะสายสีส้มตะวันตกตลอดสายเป็นงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน และต้องเผื่อเวลา 1 ปีทดสอบระบบ ส่วนการเดินรถจะให้สัมปทานเอกชน 30 ปี นับจากเปิดบริการช่วงตะวันออกในปี 2567 และเปิดเดินรถตลอดสายในปี 2569 คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการอยู่ที่ 4 แสนเที่ยวคนต่อวัน”

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างเปิดเผยว่า คาดว่าจะมีรับเหมารายใหญ่เข้าร่วมประมูล 3-4 กลุ่ม ขณะนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวของ 2 กลุ่มใหญ่เตรียมแท็กทีมเข้าร่วมประมูล มีกลุ่มบีทีเอสได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับพันธมิตรกลุ่มเดิมทั้ง บมจ.กัลฟ์ บมจ.ราชกรุ๊ป บมจ.ซิโน-ไทยฯ และอาจจะมีบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่ม เช่น บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ จากจีน เพราะมีเทคโนโลยีหัวเจาะอุโมงค์

ยังมีกระแสว่า กลุ่ม ซี.พี.เตรียมจะร่วมกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ.ช.การช่าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ นอกจากนี้อาจจะมี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนค์ คอนสตรัคชั่น ที่อาจจะจับกับผู้รับเหมาจากประเทศจีนเข้าร่วมประมูล

“ประมูลสายสีส้มมีอะไรมากกว่าการแข่งขันยื่นซอง เป็นการแข่งขันทางธุรกิจของรายใหญ่ที่เกี่ยวพันกันมาจากหลายโครงการ จะเห็นการต่อสู้ระหว่างเจ้าสัว ซี.พี. ถ้าตัดสินใจร่วมกับ BEM ช.การช่าง และอิตาเลียนไทยฯ กับบีทีเอสก็ต้องการจะต่อยอดกับสายสีชมพูและสายสีเหลือง อาจจะเห็นการแข่งขันด้านราคากัน เหมือนกับประมูลงานระบบมอเตอร์เวย์ที่กลุ่มบีทีเอสชนะ BEM”

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทยฯ กล่าวว่า ขอดูรายละเอียดเงื่อนไขในทีโออาร์ก่อน มีความคุ้มค่าน่าสนใจเข้าร่วมในลักษณะไหน จากนั้นจะหารือกับพันธมิตรกลุ่มเดิม คือ กลุ่มบีทีเอส เพื่อยื่นประมูล

แหล่งข่าวจาก บมจ.อิตาเลียนไทยฯกล่าวว่า เตรียมหาพันธมิตรร่วมลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเพื่อยื่นประมูล ถามว่าจะเป็นกลุ่มเดียวกับ ซี.พี.ที่ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหรือไม่ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในทีโออาร์ที่รัฐจะออกมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวสายสีส้มเริ่มต้นจากบางขุนนนท์ จุดตัด ถ.จรัญสนิทวงศ์ ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ ถ.ราชดำเนิน ถ.หลานหลวง ยมราช ถ.เพชรบุรี ถ.ราชปรารภ ถึงดินแดงเลี้ยวไปตาม ถ.วิภาวดีรังสิต ผ่าน กทม. 2 (ดินแดง) ไปเชื่อมสายสีน้ำเงินที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ แล้วเบี่ยงเข้า ถ.พระรามเก้า ถ.ประดิษฐ์ธรรมนูญ ถ.รามคำแหง แยกลำสาลี แยก ถ.กาญจนาภิเษก สิ้นสุดที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณมีนบุรี มีเวนคืนที่ดิน 505 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 331 หลังคาเรือน

มี 28 สถานี เป็นใต้ดิน 21 สถานี ยกระดับ 7 สถานี มี 9 จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์เชื่อมสายสีแดงอ่อนและสายสีน้ำเงิน สถานีศิริราชเชื่อมสายสีแดงอ่อน สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเชื่อมสายสีม่วงใต้ สถานียมราชเชื่อมสีแดงเข้ม สถานีราชเทวีเชื่อมสายสีเขียวบีทีเอส สถานีราชปรารภเชื่อมสายสีแดงอ่อน และแอร์พอร์ต เรลลิงก์ สถานีศูนย์วัฒนธรรมเชื่อมสายสีน้ำเงิน สถานีลำสาลีเชื่อมสายสีเหลือง และสถานีมีนบุรีเชื่อมสายชมพู